นักรบย่อมมีบาดแผล
ขอบอกเลยว่า EP.4 นี้พวกเราแอบมีความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย พวกเราถ่ายวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งบนแอปฯ Weather ในไอโฟนคือเห็นแล้วใจรู้สึกลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะมีโอกาสราว 20-30% ว่า ‘ฝนจะตก’
แล้วสถานที่ถ่ายทำ เป็นกึ่งคาเฟ่ด้านล่าง-ร้านสักด้านบน มีสวนหย่อมเล็ก ๆ เลยคุยกันว่าคงถ่ายข้างในไม่ได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่พอ กลัวไปรบกวนลูกค้าท่านอื่น (หมายถึงกลัวความหล่อของพี่อั้มไปรบกวนท่านอื่น) หรือเสียงบดเมล็ดกาแฟจะแทรกเข้าเกินไป
เลยสรุปกันว่าคงเป็นในสวน และเนื่องจากมีโอกาส 20-30% ที่ฝนจะตกจึงค่อนข้างกังวล แต่ข้อดีคือไม่รู้สึกร้อนเท่าไหร่เนื่องจากมีกลุ่มเมฆเหนือหัวคอยให้ร่มเงา ทำให้แสงแดดยามบ่ายที่ควรจะร้อนแรงไม่เหมาะแก่การถ่ายในสวน กลับสวยขึ้นมา
อีกประการที่ทำให้ใจไม่ค่อยดี คือรองเท้าแตะที่ดูจะใช้ออกรบมาแล้วนับไม่ถ้วนของโปรดิวเซอร์รายการเกิดสายขาดเฉย เลยทำให้คิดว่า ‘หรือนี่คือสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่าวันนี้โดนเล่นตลกแน่’
แล้วก็โดนเล่นตลกจริง ๆ
ฝนไม่ตกนะ แต่หลังถ่ายพี่อั้มในสวนได้ประมาณ 15 นาที เมฆด้านบนก็ตัดสินใจว่า ‘ฉันไปดีกว่า เบื่อความหล่อพันปีของคุณอธิชาติจริง ๆ’ เลยสาดแสงแดดเปรี้ยงลงมาทำให้พี่อั้มและพวกเราทุกคนร้อน เหงื่อตก และแสงที่เข้าฉากคือไม่ไหวเลย
พวกเราแก้ปัญหาโดนการอ้อนพี่เจ้าของร้านที่มีนัดคุยสักกับลูกค้าที่ชั้นบนของคาเฟ่ ให้เปลี่ยนไปคุยที่อื่นได้มั้ย พวกเราจำเป็นต้องใช้ชั้นสองจริง ๆ เชื่อแล้วว่าบางครั้งในความโชคร้ายก็มีโชคดี เพราะพี่เจ้าของร้านก็ยอมจำนนต่อคำขอร้อง ให้พวกเราใช้พื้นในที่ห้องสักถ่ายทำ ส่วนตัวเขาและลูกค้าจะไปคุยที่สวนเอง
พี่อั้มรอให้พวกเราจัดการปัญหาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและใจเย็น เมื่อมานั่งบนโซฟาบนชั้นสองของคาเฟ่ จึงเริ่มสัมภาษณ์ต่อ
อยากบอกว่า แอบประหลาด (ในทางที่ดี) อยู่หลายโมเมนต์ เพราะเคยเห็นมาดนิ่ง ๆ เท่ห์ ๆ ของพี่อั้มบนจอทีวี แต่ความจริงแล้วแอบเกเรไม่ใช่น้อย (ข้าน้อยของคารวะ) อีกอย่างคือเป็นความรู้สึกที่ว่า เหมือนคุยกับนักธุรกิจเลือดผสม ฝั่งนึงคือนักลงทุน-นักธุรกิจสุดแกร่ง ที่มีบาดแผลเต็มตัว แต่ทุกครั้งก็ยังลุกขึ้นสู้ไม่ท้อถอย แต่อีกฝั่งนึงคือ จิตวิญญานแห่งความอาร์ทติส ที่ไม่ได้เหมือนคุยกับนักธุรกิจ แต่กำลังเสวนากับรุ่นพี่สายครีเอทีฟคนนึงอยู่
สไตล์การสอนของพี่อั้ม ในเรื่องการลงทุน-การเงิน-ธุรกิจ ไม่ได้หนักหรือเต็มไปด้วยข้อมูล เพราะทุกประโยค ทุกข้อคิด จะคอยแฝงความเป็นปรัชญาและไลฟสไตล์อยู่เสมอ แต่มีอย่างนึงที่จับจุดได้ ซึ่งพี่อั้มไม่ได้เอ่ยตรง ๆ แต่เชื่อว่านี่คือใจความสำคัญคือ เราควรหาบาลานซ์ของตัวเองให้เจอ ระหว่างการใช้ใจกับเหตุผล
อย่างเช่น ถ้าพูดถึงความสัมพันธ์ของ ใจ + เงิน เราควรลดความ ‘ตามอำเภอใจ’ และใช้ตรรกะเหตุผลให้มากเข้าไว้ ถึงจะอยู่รอดในโลกแห่งการลงทุน และบริหารเงินให้ประสบผลความสำเร็จ แต่ในด้านการทำงานที่ต้องบริหาร หลายครั้งใช้สมองไม่ได้จริง ๆ ต้องโอบอุ้มด้วยใจที่กว้าง ใจต้องนำ ต้องมีสปิริตมาก ไม่งั้นถ้าใช้เหตุผลทุกครั้ง ก็คงล้มเลิกไปนานแล้ว
นี่คงเป็นเทคนิคชั้นสูงของพี่อั้ม ที่ตีโจทย์แตกในการดำเนินชีวิตด้วยศาสตร์และศิลป์ ผ่านประสบการณ์ที่แสนเจ็บปวดมานับไม่ถ้วน
อีกอย่างที่น่าสนใจคือ ความคิดของพี่อั้มที่มองเข้ามาในเรื่องของความแตกต่างระหว่าง นักลงทุน-นักพนัน และ ความรวย-ความมั่งคั่ง นั้นเฉียบเสียจริง พี่อั้มบอกไว้ว่า ความแตกต่างระหว่าง นักลงทุน-นักพนัน คือคนนึงหน้ามืดและอีกคนไม่น่ามืด ส่วนความรวย-ความมั่งคั่ง แตกต่างกันที่ว่าความรวยนั้นยังดูภายนอก ดูแค่กระดาษ แต่คำว่ามั่งคั่งคล้องจองกับคำว่ามั่นคง มันมีความรู้สึกเกี่ยวกับภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เวลาผ่านเป็นเร็วเหมือนโกหก ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่อั้มที่แบ่งเวลามามอบประสบการณ์สุด Exclusive (แอบเกเรเหมือนกันนะลูกพี่) รู้สึกได้รับทักษะในการมองเข้ามาในเรื่องของการเงินและการลงทุน บริหารธุรกิจ จากสองเลนส์ หนึ่งคือมุมของนักธุรกิจที่ต้องคอยใช้ตรรกะเหตุผลให้มาก อีกส่วนคือความติสท์ในการใช้สร้างสรรค์ผลงาน และสุดท้ายต้องขอโทษพี่เจ้าของร้านที่ต้องออกไปตากแดดแทนพวกเรา พี่คืออัศวินของพวกเรา
ก่อนจากกันในวันนี้ ขอกล่าวสั้น ๆ ว่า ฟินเวิร์สไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ หากพี่มีเรียจับได้ว่าพี่อั้มเอาเงินไปซ่อนไว้ที่ไหนบ้าง!
–
ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ
IG + FB: tocharestory