HIGHLIGHT
ทางการเข้ามาควบคุมธนาคาร SVB แล้ว
ต้นตอที่แท้จริง มาจากช่วง Covid-19 ที่ดอกเบี้ยต่ำ SVB ได้ลงทุนเงินจำนวนมากกับพันธบัตรรัฐบาล
ค.ศ. 2022-2023 เกิดเงินเฟ้อรุนแรง สายเทคฯ โดนหนัก มีการขึ้นของดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ SVB เสียหายหนัก แถมพันธบัตรรัฐบาลที่ลงทุนไว้ไม่ขยับ
ลูกค้า SVB ขาดความเชื่อมั่น ประกอบกับแผนที่ผิดพลาดของ SVB จึงเกิดการแห่ถอนเงินสูงถึง 1,461 พันล้านบาทใน 24 ชม.
บรรดา Startup และ Venture capital ที่เกี่ยวโยงได้รับผลกระทบระยะสั้นแน่นอน แต่ระยะยาวที่เป็นธนาคารอื่น ๆ ต้องดูเป็นเคสไป
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าไม่เหมือนวิกฤตการเงินปี 2008 และอยู่ในมุมที่แคบกว่า (อย่างไรก็ตาม ควรระวัง)
ความวุ่นวายในวงการเทคฯ ที่ดูเหมือนจะยังไม่จบง่าย ๆ
คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่าธนาคาร ‘Silicon Valley Bank’ (SVB) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่และยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของบริษัทที่เกี่ยวกับเทคฯ โดยเฉพาะสาย Startup และ Venture Capital (ธุรกิจเงินร่วมลงทุน) ประสบปัญหาจนถึงขั้นที่ทางการต้องเข้ามาควบคุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
หากสงสัยว่าใหญ่ขนาดไหน จะยกตัวอย่างให้ฟังแบบนี้ว่า ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 ทาง ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่ามีสินทรัพย์ทั้งหมด 3,371 พันล้านบาท ส่วน SVB รายงานว่าในไตรมาส 4 ของปี 2022 มีสินทรัพย์ประมาณ 7,378 พันล้านบาท ($212 billion) หรือมากกว่าธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นธนาคารอันดับต้นของไทยเป็นเท่าตัว!
อัตราดอกเบี้ย จุดเริ่มต้นของปัญหา
เริ่มต้นตั้งแต่ที่ Covid-19 ระบาดใหม่ ๆ เนื่องจากว่า SVB เป็นธนาคารที่บรรดา Startup และ Venture Capital ต่างนิยมใช้ จึงได้รับเงินฝากจำนวนมหาศาลจากบริษัทหน้าใหม่ จำนวนเงินที่ธนาคารได้รับนั้นมีเยอะมากจนถึงระดับที่ว่าให้กู้ยืมมากแค่ไหนก็ไร้วี่แววว่าจะหมด ดังนั้นพวกเขาจึงนำเงินไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาล
แต่ปัญหาคือการได้กำไรด้วยวิธีนี้เหมาะมากสุดตอนดอกเบี้ยต่ำ และหลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อสู้เงินเฟ้อ โดยเฉพาะจากทางสหรัฐฯ ที่ FED ประกาศล่าสุดว่าจะใช้ ‘ยา’ รุนแรงขึ้น แน่นอนว่าการฝากที่ SVB ทำไว้ก็แพงขึ้นตาม พุ่งจาก 0.14% เป็น 2.33% และในขณะเดียวกัน ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลนั้นไม่ขยับไปไหนเลย การ ‘บีบตัว’ ลงของกำไรจึงเริ่มตั้งแต่บัดนั้น
ทาง SVB ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามวางแผนและปรับกลยุทธ์เพื่อออกจากปัญหา แต่บรรดานักลงทุนและผู้ที่ฝากกับทางธนาคารไม่อยากเสี่ยงที่จะรอว่าแผนใหม่ของธนาคารจะเวิร์คหรือไม่ ดังนั้นมูลค่าของ SVB จึงลดฮวบลงมาอย่างรุนแรง พร้อมกันนั้น ผู้คนต่างแห่กันไปถอนเงิน หรือที่เรียกกันว่า ‘Bank Run’ ด้วยจำนวนเงินสูงถึง 1,461 พันล้านบาท ($42 billion) จนทำให้ทาง ‘FDIC’ (สถาบันของรัฐบาลสหรัฐฯที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคาร) ต้องเข้ามาเคลียร์ปัญหา
คงเริ่มสงสัยกันแล้วว่า “ยังไงต่อล่ะ?”
หากตอบในแบบระยะสั้น แน่นอนว่าบรรดา Startup หรือ Venture capital ที่เชื่อมโยงกับธนาคาร ไม่ว่าจะอยู่ ‘มุมไหน’ ของโลก ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เช่น การจ่ายเงินเดือน การหยุดชะงักของโปรเจกต์ หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้าง (จนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อีกครั้ง) ซึ่งทุกคนคงได้ประจักษ์แล้วว่า ปี 2022-2023 เป็นปีที่ไม่ค่อยดีของสายเทคฯนัก ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตระกูลสินทรัพย์ดิจิทัล และการเลิกจ้างงานจากหลากหลายบริษัท
ในม้วนต่อจากระยะสั้น คงต้องดูว่าโดมิโนจะล้มไปโดนตรงไหนอีก หรือพูดให้ชัดก็คือ จะไปโดนธนาคารไหน? สถิติบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ของ SVB รวมเป็น 0.91% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธนาคารในสหรัฐฯมี ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากว่าจะ ‘เทกระจาด’ ไปทั้งกระดาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่า พอร์ตลงทุนของหลายธนาคารในสหรัฐฯอาจมีมูลค่าต่ำลงเนื่องมาจากการขึ้นดอกเบี้ยของทาง FED และถึงแม้มูลค่าจะต่ำลง ‘บนกระดาษ’ (on paper) จนกว่าจะถูกขาย แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี ซึ่งความเสี่ยงนี้จะมาก-น้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารอีกที แต่ที่แน่ชัดก็คือ ธนาคารไหนที่มีพื้นฐานลูกค้าจากสาย Startup หรือ Venture capital น่าจะ ‘เสี่ยงกว่าเพื่อน’
ยกตัวอย่างเช่น ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกผลกระทบที่รุนแรงหน่อย เพราะค่อนข้างที่จะมีความเป็น Startup และหนุนโดย Venture Capital อย่างมาก ซึ่งล่าสุดบริษัท ‘Circle’ ที่อยู่เบื้องหลัง Stablecoin ที่นิยมใช้ ‘USDC’ ก็ฝากเงินไว้ที่ SVB จำนวนนึง ซึ่งแน่นอนว่าการล้มของ SVB ส่งผลให้ USDC ถึงกับหลุดการตรึงค่า (Depeg) ที่ 1$ จนทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลวุ่นวายในระดับนึงเลย และในส่วนของตลาดหุ้น มีธนาคารอย่าง First Republic ที่ร่วงไปแล้วถึง 51% และ PacWest กว่า 37%
ถึงแม้การล้มครั้งนี้ เป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนได้บอกไว้ว่า อาจไม่ ‘วิกฤต’ เท่าปี 2008 เพราะจำกัดวงแคบ และธนาคารสมัยนี้ไม่ควรเอาไปเทียบกับในปี 2008 ซึ่งได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก พร้อมกับเชื่อมั่นว่ามีเงินทุนมากพอที่จะรองรับความเสียหายได้ เพราะได้เรียนรู้จากวิกฤตรอบก่อนมาแล้ว