แกะ•ปลา•เด็น
🐟
คอลัมน์ที่จะมาช่วยอัพเลเวลความเป็นปัญญาชน โดยนำประเด็นเกี่ยวกับ ‘เงิน ๆ ทอง ๆ’ รอบตัว มาแกะให้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย เป็นส่วน หัว – ตัว – หาง
ทั้งนี้ จะเป็นการนำ ทฤษฎี หลักจิตวิทยา แนวคิด ตรรกะ&เหตุผล ที่อาจซ่อนอยู่เบื้องหลังของประเด็นนั้น ๆ มาให้ชิมพร้อมน้ำพริกน้ำปลาสูตรเด็ด เสิร์ฟบนข้าวสวยร้อน ๆ 🍚 (สองอย่างหลัง อาจจะต้องใช้พลังแห่งจินตนาการกันไปก่อน!)
🐟 เด็นอะไรที่กำลังแกะ?
ค่าไฟฟ้าแพงแสนแพงที่มองจากดาวอังคาร ก็เห็นราคาแรงกระแทกอัดหน้า
🐟 เด็นที่ 1:
ในทางเศรษฐศาสตร์ มีพฤติกรรมอยู่รูปแบบนึง ที่เรียกว่า “Rent seeking” หรือ “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” แต่ขอเคลียร์ก่อนว่าคำว่า “เช่า” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายซักเท่าไหร่ และความหมายที่ค่าเช่าทางเศรษฐกิจนั้นหมายถึง หากอธิบายจากประเด็นที่กำลังจะแกะคือ เวลาธุรกิจหรือการกระทำเกี่ยวกับธุรกิจ ได้รับสิทธิพิเศษหรือจะใช้คำว่า “เอื้อ” ก็ได้ จนอาจเกิด “Monopoly” ที่ไม่ได้หมายถึงเกมเศรษฐี แต่หมายถึงการ “ผูดขาด” จากกฏหมายหรือนโยบายของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายนั้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม
ต้นตอของคำว่า Rent seeking มาจากไอเดียของ Gordon Tullock ศาสตราจารย์ด้านกฏหมายและเศรษฐศาสตร์ ในปี 1967 ก่อน Anne Krueger นำมาใช้ในวงกว้างในปี 1974 ซึ่ง นายธรรมนิตย์ สุมันตก อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในวารสาร “คอร์รัปชั่น การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และการพัฒนากฎหมาย” ว่า เวลาตลาดเกิดการล้มเหลว แล้วทางรัฐเข้าไปแทรกแทรงไม่ได้เพียงเพราะตลาดนั้น “ล้มเหลว” แต่อาจแฝงด้วยผลประโยชน์ในคราบของระบบเศรษฐกิจการเมือง ที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “พิทักษ์ประโยชน์” ต่อสาธารณะเสมอไป
นายธรรมนิตย์ยังอธิบายอย่างน่าสนใจว่า “บทบาทของรัฐย่อมมาจากการสนับสนุนของผู้อยู่เบื้ิองหลังการวางนโยบายนี้ในการได้รับประโยชน์” และเสริมว่าหากสังคมใดมี Rent seeking ขั้นรุนแรง เศรษฐกิจจะพัฒนาได้ยาก
ก่อนตีตราบาปให้กับ Rent seeking จนมากเกิน อันที่จริงแล้วการกระทำนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเกี่ยวกับแง่ลบหรือคอร์รัปชั่นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น การจดสิทธิบัตร (patent) เพื่ิอผูกขาดงานนั้น ๆ แก่คนผู้หนึ่งที่สร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนัก หากแต่เมื่อใช้ “อำนาจ” ที่มี แล้วนำวิธีนี้ไปดำเนินในรูปแบบที่ผิดเพื่อฉกฉวยโอกาสสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตน (หรือพวกพ้องของตน) คงไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมนัก
🐟 เด็นที่ 2:
Rent seeking นั้นไม่ได้มีแค่ความเชื่อมโยงในเชิงอำนาจ แต่ยังมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับ “ความโลภ” อีกด้วย เพราะทั้งสองคำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และมักจะมาจากการที่ผู้อื่นหรือสังคมโดยรวมเป็น “ผู้จ่าย”
ดังนั้นพฤติกรรมของ Rent seeking ในทางที่ผิด อาจเรียกได้ว่าเป็นการปรากฏตัวให้เห็นในรูปแบบที่เป็น “รูปธรรม” มากขึ้นของความโลภก็ว่าได้ จากการที่บุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้ Rent seeking ปรารถนาที่จะสะสมความมั่งคั่งหรือทรัพยากรสำหรับตนเอง โดยไม่ค่อยจะสนใจถึงผลกระทบในวงกว้างจากการกระทำของพวกเขาสู่สังคม
การจะอธิบายเกี่ยวกับความโลภในมุมของเนื้อหานี้มีมากมาย แถมยังละเอียดซับซ้อนอีกด้วย เนื่องจากมีกรอบความคิดและทฤษฎีตีกันเยอะแยะไปหมด ดังนั้นสิ่งที่จะหยิบมาอธิบายต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นการ “เคลม” ว่า:
1. เป็นมุมมองที่ถูกต้องแต่อย่างใด
2. ไม่ได้เคลมว่า “ทุกคนทำ” เพราะบางครั้ง “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง”
3. ไม่ได้ทำเพื่อเจาะจงต่อว่าให้ร้ายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรืออาชีพใด
เพียงแต่นำมาหยิบยกเพื่ออธิบายให้เห็นภาพเพื่อเสริมเป็นความรู้ ดังนั้นจึงใคร่ขอให้อ่านด้วยใจที่เปิดกว้างไว้!
Gary Stanley Becker ปรมาจารย์ด้านศรษฐศาสตร์สังคมวิทยา ผู้เคยคว้ารางวัลโนเบิล ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “The Cause and Cures of Corruption” เกี่ยวกับ “ความเย้ายวน” (Temptation) ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเห็นผลตอบแทนที่ “มากกว่า” รายได้หรือเงินเดือนของตน ดังนั้นเมื่อมีโอกาส “คอร์รัปชัน” จึงพร้อมที่จะแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหรือใช้อำนาจหน้าที่ (อันที่จริงความโลภของมนุษย์ คงไม่ได้จำกัดอยู่ที่อาชีพใดอาชีพนึงหรือประเทศใดประเทศนึง เพียงแต่ชุดความคิดนี้ อธิบายจากมุมมองของรัฐและคอร์รัปชัน)
🐟 เด็นที่ 3:
ผลสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อสังคมก็คือ “Social costs” หรือก็คือ “ต้นทุนส่วนรวมของสังคม” ที่ต้องจ่ายร่วมกัน ดังนั้นเมื่อเรามองกลับมาที่ปัญหาของค่าไฟที่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะมาตลอด 20 ปี และเมื่อนำประเด็น “นอก” ในปัจจุบันออก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือปัญหาในเมียนมาร์ที่แน่นอนว่าก็มีส่วนส่งผลกระทบต่อค่าไฟ ก็คือการที่เรา ๆ ทุกคน สามัคคีพร้อมเพรียงควักเงินจ่ายค่าไฟ่ที่แพงราวกับว่าดวงอาทิตย์วาร์ปมาอยู่หน้าประตู