แกะ•ปลา•เด็น
🐟
คอลัมน์ที่จะมาช่วยอัพเลเวลความเป็นปัญญาชน โดยนำประเด็นเกี่ยวกับ ‘เงิน ๆ ทอง ๆ’ รอบตัว มาแกะให้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย เป็นส่วน หัว – ตัว – หาง
ทั้งนี้ จะเป็นการนำ ทฤษฎี หลักจิตวิทยา แนวคิด ตรรกะ&เหตุผล ที่อาจซ่อนอยู่เบื้องหลังของประเด็นนั้น ๆ มาให้ชิมพร้อมน้ำพริกน้ำปลาสูตรเด็ด เสิร์ฟบนข้าวสวยร้อน ๆ 🍚 (สองอย่างหลัง อาจจะต้องใช้พลังแห่งจินตนาการกันไปก่อน!)
🐟 เด็นอะไรที่กำลังแกะ?
กรณีซื้อขายบัตรเครดิตการ์ดสุดหรูที่ถูกอายัดแล้ว ในราคา 14,000 บาท บน TikTok
🐟 เด็นที่ 1:
ความหมายของ ‘Conspicuous consumption’ ในรูปแบบที่ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่ายที่สุดคือ การซื้อสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยเพื่อโอ้อวดความมั่งคั่ง และความต้องการที่จะยกระดับ (ภาพลักษณ์) ของสถานะทางสังคม
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1899 นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า ‘Thorstein Veblen’ ได้บัญญัติคำว่า Conspicuous consumption จากหนังสือที่เขาเขียน ‘The Theory of the Leisure Class’ จากการสังเกตเห็นว่าคนร่ำรวยมักหลงระเริงกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ‘แห่งความสำเร็จ’
นอกจากนี้ Conspicuous consumption มักทำหน้าที่เป็นบูสเตอร์กระตุ้น ‘คุณค่าเมื่อมองมาที่ตัวเอง’ (Self-Esteem) อีกด้วย ซึ่งการแสดงสินค้าหรูหรา มักทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความสำเร็จและได้การยอมรับ (หรืออิจฉา) จากผู้อื่น
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน เป็นตัวจุดชนวนขยายอำนาจของ Conspicuous consumption มากยิ่งขึ้น โดยมันอาจผลักดันให้ผู้คนต่างแสวงหาการถูกยอมรับและการเพิ่มพูนคุณค่าของตัวเอง ผ่านการครอบครองวัตถุมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
🐟 เด็นที่ 2:
หากต้องสรุปให้เข้าใจง่ายที่สุด ‘Semiotics’ หรือ ‘ทฤษฎีสัญศาสตร์’ คือ การศึกษา ‘สัญญะ’ (sign) ที่บัญญัติโดยนักภาษาศาสตร์ชาวสวิส นามว่า ‘Ferdinand de Saussure’ ซึ่ง Semiotics นั้นหมายถึงวิธีสร้างความหมายและสื่อสารผ่านสัญญะ ซึ่งประกอบด้วยสองส่วน
1. สัญญาณ (the signifier) ได้แก่ สิ่งที่มีความหมายหรือก่อให้เกิดความหมาย
2. สัญญัติ (the signified) ได้แก่ ตัวความหมาย
หากต้องอธิบายให้เห็นภาพ ‘สัญญาณ’ ก็เหมือนรูปแบบทางกายภาพ เช่น เสียงหรือภาพ ในขณะที่ ‘สัญญัติ’ คือแนวคิดหรือความหมายที่มาพร้อม ‘สัญญาณ’ ให้ลองนึกถึงดอกกุหลาบสีแดงดู สัญญาณคือตัวดอกกุหลาบ ส่วนสัญญัติคือแนวคิดของความรักหรือความโรแมนติกที่มาพร้อมกับสัญญาณ
เมื่อเข้าใจแล้ว ให้ลองเอามาประยุกต์ใช้กับบัตรเครดิตสุดหรู
สัญญาณ: บัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ สี และวัสดุ
สัญญัติ: แนวคิดของความมั่งคั่ง สถานะ และความพิเศษเฉพาะตัวที่บัตรเป็นตัวแทน
ลองนึกฉากแบบนี้ว่า ได้มีการควักบัตรสุดหรูที่ร้านอาหารแพง ๆ เราไม่เพียงแค่ ‘จ่าย’ ค่าอาหาร แต่มันกำลังส่งข้อความถึงคนรอบด้านอีกด้วย ดังนั้นสัญศาสตร์ของบัตรเครดิตสุดหรู จึงเกี่ยวกับการ ‘สร้างภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จ’ จากบัตรที่เอาไว้แค่ใช่รูดซื้อของหรือเครื่องมือทางการเงิน กลับกลายเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังที่แสดงถึง ‘สถานะ’
🐟 เด็นที่ 3:
การจ่าย 14,000 บาท เพื่อได้ควักบัตรเครดิตสุดหรูที่ถูกอายัดแล้ว อาจดูเหมือนเป็นวิธีที่แปลกประหลาดในการได้ การยอมรับทางสังคม (Social Recognition) แต่ในโลกที่รูปลักษณ์ภายนอกมีความสำคัญ การซื้อสินค้าอะไรบางอย่างที่อาจเข้าข่ายฟุ่มเฟือย เพื่อโอ้อวดความมั่งคั่งและสถานะทางสังคมย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เพราะหลายคนต้องการแสวงหาความ ชื่นชอบ ชื่นชม จากคนรอบข้าง
ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นการสร้างภาพลวงตาแห่งความสำเร็จ ถึงแม้บัตรเหล่านี้จะไม่ได้ให้ผลประโยชน์ทางการเงินเพราะถูกอายัดแล้ว แต่ในเชิง ‘สายตา’ ที่มองเข้ามา มันยังคงมีสัญลักษณ์อันทรงพลังซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งและเกียรติยศอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่ง Social Recognition