กุนซือมือฉมังแห่งวงการ Digital Transformation
เคยได้ยินคำว่า Digital Transformation (DX) บ่อยมาก เพราะดูเหมือนจะเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนองค์กรในยุคนี้หากต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดดและไม่โดนรั้งท้าย โดยเฉพาะสำหรับองค์กรหรือบริษัทใหญ่ ๆ นั้นเป็นแผนที่ควรมีเลย
ในเวลาเดียวกันก็ได้ยินว่าเป็นอะไรที่ยากพอสมควร ดังนั้นหากใครที่มีความสามารถช่วยองค์กรใหญ่ ๆ ให้ DX ตัวเองได้ น่าจะเป็นคนที่ต้องมีความรู้และความสามารถมาก เพราะหากไม่เป็นมือเซียนจริง ๆ คงขับเคลื่อนให้บริษัทหรือองค์กรออกจากคอมฟอร์ทโซนไม่ได้แน่นอน
ดังนั้นในวันนี้จึงรู้สึกเหมือนโชคหล่นทับ ที่ได้มามาฟังประสบการณ์โดยตรงแบบโคตร exclusive จาก พี่ทาโร่-ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ผู้บริหารแห่ง J Ventures ในเครือ Jaymart ที่ออกเหรียญ JFIN ชื่อดังของไทย และเป็นกุนซือมือฉมังที่ได้ช่วยให้หลายบริษัทและองค์กรยักษ์ใหญ่ในไทย DX ตัวเองมาแล้ว
พี่ทาโร่ประชุมเสร็จก็ตรงมานั่งคุยกับพวกเราต่อทันที แล้วถามเลยว่าสัมภาษณ์แบบไหน? แมส ๆ แบบที่ผ่านมา หรือลงลึกแบบ exclusive
ก็เลยตอบไปตรง ๆ ว่าแมสเยอะแล้ว ขอแบบ exclusive เลยละกัน แต่จะไม่เน้นถามด้าน DX แต่จะเป็นมุมของทางฟินเวิร์สนี่แหละ ที่เกี่ยวกับการเงินและการลงทุน เพราะคงน่าสนุกดีว่า mindset ของคนที่เก่งด้าน Digital transform จะมีประสบการณ์์ คำสอน ด้านการเงินและการลงทุนอย่างไร
สุดท้ายนี้บอกได้คำเดียวว่า
‘โคตรมันส์’ เวลาผ่านไปชั่วโมงกว่า ๆ แบบไม่รู้ตัวเลย!
แนะนำตัวยังไงก็ได้ให้พวกเรารู้จักพี่ทาโร่ดีขึ้น
พี่คงเรียกตัวเองว่า ‘รีเฟรมเมอร์’ เวลาเห็นเรื่องราวพี่จะเฟรมมันใหม่ พี่จะมองเรื่องนั้นในมุมใหม่ ๆ พี่เรียกว่ารีเฟรม ดูเหมือนน่าจะเป็นนักวางกลยุทธ์ประมาณหนึ่งด้วย แต่มีพี่ผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกพี่ว่า ‘แกเป็นนักกลยุทธ์ที่แย่ที่สุดเท่าที่ชั้นเคยเจอมาก่อน’
ฟังแล้วรู้สึกแบบ ‘จริงเหรอ พาองค์กรมาขนาดนี้ เป็นนักกลยุทธ์ที่แย่ที่สุดจริงหรือ?’ แต่เขาบอกว่า ‘แต่แกเป็นคนที่มีแท็กติกดีที่สุดคนหนึ่งที่ชั้นเคยเจอมาก่อน’
พี่เลยถามว่า กลยุทธ์กับแท็กติกต่างกันยังไง เขาเลยเล่าว่า กลยุทธ์คือการวางแผนที่จะเดินจากจุดเอไปจุดบี เราจะวางกลยุทธ์ในการเดินยังไง แต่ว่าเส้นทางการเดิน เวลาเดิน อาจจะออกนอกเส้นทางตามกลไกเจอโน่นเจอนี่ แท็กติกในมุมนี้คือหนึ่งวิธีในการการแก้เกมให้กลับมาอยู่เส้นทางการเดิน ให้ถึงเป้าหมายทีตั้งไว้ คนที่วางกลยุทธ์แล้วไม่มีการแก้แท็กติก พอมันหลุดกลยุทธ์แล้วจะไปไม่ถูกเลย
มาจบด้วยการเป็น CEO ของ J Ventures ผู้ออกเหรียญ JFIN ในเครือของ Jaymart ได้ยังไง
มาเจอคุณอดิศักดิ์ พอแกชวนมาก็รู้สึกว่าเคยทรานส์ฟอร์มหลายองค์การ ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย การบินไทย แสนสิริ จ้างเราไปทรานส์ฟอร์ม ตอนนี้ก็เลยมาเจมาร์ท และทรานส์ฟอร์มเจมาร์ทและไปออกไอซีโอในยุคนั้น
คนเจ็บตัวจากคริปโตเยอะเลย เห็นพี่ทาโร่บอกแก้เกมเก่ง ควรแก้เกมให้เจ็บน้อยยังไงดี
ให้เข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์ของเหรียญแต่ละตัวเป็นยังไง เจฟินคืออะไร บิทคัพคืออะไร อีเธอเรียมด้วย บิทคอยน์ด้วย บิทคอยน์เรารู้อยู่แล้วคือการทำ Proof of work ทำเหรียญที่ออกมาน้อยลง อีเธอเรียมก็ไปดูว่าคนใช้ smart contract มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเปล่า เปลี่ยนเป็น Proof of stake รึยัง อะไรแบบนี้
พวกนี้คือโทเค่นโนมิก (tokenomics) ของเหรียญทั้งสิ้น เหรียญทุกเหรียญมีโทเค่นโนมิกไม่เหมือนกัน แต่คนที่เทรดทุกคนไม่เข้าใจหรอก ดูกราฟสิ ขึ้นก็ขึ้นลงก็ลง ตามกระแสกันไป ปีที่แล้วเหรียญเจฟินราคาขึ้นไปจุดสูงสุดพร้อม ๆ กันทั้งสามเหรียญ (JFIN, SIX, KUB) ตอนนั้นเป็นช่วงที่พี่ไม่ชอบเลย เพราะว่ามันขึ้นลงตามชาวบ้าน เขาเป็นยังไง เราก็เป็น ทุกตัวก็ลากขึ้นไป ลงมาพร้อมกัน
พี่ทาโร่คิดว่าปัญหาเทรดของคนไทยมีอะไรบ้าง
เป็นปัญหาทั่วโลกนะเรื่องความโลภของคน ตลาดเหรียญหรือตลาดหุ้นก็คล้ายกัน ตลาดหุ้นคือบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมาย เพราะงั้นมักจะเป็นอารมณ์ของพวกมากลากไปอยู่แล้ว ยุคนี้เป็นยุค FOMO เนอะ ลองดูสิ เพื่อนนัดกินข้าวสิบคน นั่งคุยกัน ‘ซื้อหุ้นตัวนี้สิ เมื่อเช้าซื้อปะ’ แทนที่จะไปศึกษาว่าปัจจัยพื้นฐานคืออะไร กลัวแต่จะตกรถ พอได้ยินว่าสี่ห้าคนซื้อ รีบซื้อทันที คนเป็นอย่างงั้น เป็นทั้งโลก
สไตล์การลงทุนหุ้นหรือคริปโตของพี่ทาโร่เป็นแบบไหน
ซื้อแล้วทิ้งไว้ คล้าย VI แต่ไม่เหมือนเพราะต้องศึกษาปัจจัยพื้นฐานอย่างดีกับซื้อทิ้งไว้ระยะยาว แต่พี่ไม่ได้นานขนาดนั้น ไม่ได้มีเวลาเยอะ แค่รู้สึกว่าตัวหุ้นนี้มันดีก็ซื้อทิ้งไว้ เสร็จกลับมาดู มันอาจจะทั้งขึ้นและลง เรื่องราวมันเปลี่ยนไประหว่างทางแล้วเราไม่ทราบหรอก แต่ที่แน่ ๆ หุ้นพี่จะเล่นกับหุ้นที่พอรู้ข้อมูลกับรู้พื้นฐานในระดับนึง
พี่ทาโร่คิดว่าคนทั่วไปควรหาสไตล์ตัวเองยังไงดี
คนเราจริตไม่เหมือนกัน พี่เป็นคนที่ไม่อินกับสายเทคนิคเลย ทั้ง ๆ ที่ไปเรียนมาหลายครั้งกับสัญญาณเทคนิค แต่บางคนอินกับมันก็ดีนะ ไม่สนใจ ไม่เข้าข้าง ก็เล่นแบบนึง แต่คนส่วนใหญ่สับสน เข้าแบบนึงออกแบบนึง ฟังข่าวแล้ว ถ้าสับสนแล้วชิบหายแน่ ๆ ต้องอย่าสับสน และต้องศึกษาเยอะ ๆ แต่ตอนนี้มีข้อมูลล้นไปหมด เพราะฉะนั้นชอบตัวไหนศึกษาตัวนั้น กลับไปที่ความคุ้นเคย คนเราถนัดไม่เหมือนกัน
วิธีแก้เกมของพี่ทาโร่เวลาลงพลาดเป็นแบบไหน
พี่จะไม่สนใจว่า กำไร ขาดทุนขนาดไหน จะไม่สนใจเลย สนใจว่าแค่ว่าถ้าเราขายตัวนี้ สมมุติเราขายได้ล้านนึง แล้วจะถามตัวเองว่า เอาล้านนึงไปทำที่ไหนแล้วมีกำไรมากกว่านี้?
คือจะไม่มานั่งสนใจว่าล้านนึงมาจากขาดทุนสิบล้าน ช่างมันเถอะ เราอาจศึกษามาไม่ดี ช่างแม่ง แต่มันเหลือหนึ่งล้าน ถ้าพี่ขายวันนี้แล้วพี่รู้ว่าเอาเงินหนึ่งล้านไปลงที่ไหนมีกำไรมากกว่าหนึ่งล้าน พี่จะขายแล้วไปลงต่อเมื่อพี่รู้ตัวเลือก แต่ถ้าไม่รู้จะคาไว้ นี่คือการแก้เกมของพี่ พี่จะมองโอกาสตรงนี้มากกว่า เพราะเวลามันจำกัด
อื่น ๆ ที่อยากแนะนำคงเป็นความยืดหยุ่นและอไจล์ (Agile) ให้เยอะ ๆ ยุคนี้เป็นยุคของอไจล์ เจนพี่สอนให้รู้ก่อน รู้ให้จริงก่อนค่อยทำ ยุคนี้คือทำก่อน ค่อยเรียนรู้ แล้วปรับตัวไป
ถ้าเกิดมีโรงเรียนสอนการลงทุนหรือการบริหารเงินของตัวเอง จะสอนอะไรบ้าง
จะมีประโยคหนึ่งที่พี่ชอบบอก ‘มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ในการสร้างเหตุ ไม่มีหน้าที่ในการสร้างผล’ คนที่อยากเรียนส่วนใหญ่คงจะหาแต่ผล อยากรวย จะหาว่าหนทางในการรวยคืออะไร แต่พี่จะบอกว่า เราไม่มีหน้าที่ในการสร้างความรวย เรามีหน้าที่ในการสร้างเหตุ เราก็ก้มหน้าก้มตาสร้างเหตุไปเรื่อย ๆ แต่ทำใจไว้นะ ผลอาจจะไม่มาก็ได้ เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคิดด้วย และถ้าเป็นองค์กร อยากจะสร้างตัวเลขอย่างเดียว องค์กรจะไม่เสถียรหรอก
คนเราพยายามจะหาสูตรสำเร็จแบบอ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วมันได้ เลยรู้สึกว่าคงต้องสอนหลักการในการใช้ความคิด หาตำราวิชาขอเราเอง หาหนทางที่ประสบความสำเร็จ แล้วก็โลภมากไปมันผิดนะ แต่โลภเล็ก ๆ กำลังดี
การอยากรวยหรือความเครียด ของพวกนี้ ถ้ามีเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่ดี ทำยังไงให้มันดี แต่ถ้าเครียดโอเวอร์ไป มันรบเร้ามันไม่ดี แต่ถ้ามันไม่เครียดเลย มันจะไม่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะมันจะชิลล์เกินไป ไม่มีแพสชั่น ไม่ต้องคอมมิท จะกลัวอะไร ถ้ามิสก็แค่ไม่ได้โบนัส แต่เงินเดือนก็ไม่ลด แล้วจะกลัวอะไร ตรงนี้อยากให้เครียด คอมมิทเล็ก ๆ โลภเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่ดี
เรื่องเหรียญพี่อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจ มีองค์ความรู้ในการลงทุน จะเล่นสายอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องมีองค์ความรู้ คนที่เทรดเหรียญหรือหุ้นทุกวันนี้ยังไม่มีใครเข้าใจเลย ไม่มีใครศึกษาอะไรลึก ๆ เท่าไหร่
งานเยอะขนาดนี้ ผ่อนคลายจากความเครียดยังไง
พี่จะเป็นคนที่เวลาสนุกก็ไปให้สุดเลย เวลาทำอะไรจะสุด ๆ ไป ถ้าเรารู้ว่าวันนี้จะไปเที่ยวก็จะเที่ยวให้สุด ๆ อย่างพี่แต่งงานไม่มีลูก ทุกวันนี้ภรรยาพี่ดูแลที่บ้าน ดูตารางว่าจะไปเที่ยวไหนกับพี่ดี พี่ก็ให้เวลาเค้า ก็จะไป 1-3 วัน ก็จะไปให้สุด ไม่เอาโน้ตบุ๊กไปนะ นี่คือการฝึกให้เราแยกแยะชีวิตออก ประด็นคือคือปลดปล่อยความเครียดต้องทำให้เป็น เพราะพอปลดปล่อยไม่ได้เราจะตัดสินใจผิดบ่อยมาก พื้นฐานพี่มีแค่นี้เองจริง ๆ
พี่ทาโร่เข้าใจว่า ‘การเงินแห่งอนาคต’ จะเป็นยังไง
ต้องเริ่มจากบอกแบบนี้ว่าเงินเฟียตไม่เสถียรแน่ ๆ มันไปไม่ได้แล้ว พี่ก็เชื่อหลายคนเชื่อว่าเฟียตไปไม่ได้เหมือนกัน แล้วบิทคอยล์อาจกลายเป็นนิวเคอเรนซี่ พี่ก็รู้สึกอย่างนั้น ด้วยคุณสมบัติที่เหมือนทอง ที่มันมีซัพพลายจำกัด มุมนี้พี่มองว่ามันดีกว่าทองด้วยซ้ำ เพราะนอกจากซัพพลายมันจำกัด ไม่มีใครควบคุมมัน มันเป็นเหรียญของทุกคน ดีมานด์ซัพพลายขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง ก็เหมือนทอง โกลด์สแตนดาร์ดกับบิทคอยล์สแตนดาร์ด แต่เฟียตสแตนดาร์ดไม่เหมือนกัน เพราะถูกควบคุมโดยภาครัฐหรือแบงก์
อยากให้พี่ทาโร่แจกเคล็ดการออมเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ก่อนจบสัมภาษณ์ในวันนี้
อายุไม่เยอะ DCA ดีสุด เราไม่มีเงินเยอะ ต้องใช้พลังของการทวีคูณ แต่มันต้องใช้เวลาในการสะสม น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าอายุ 18 รู้เท่านี้ เก็บลงทุนตั้งนานแล้ว แล้วก็ดูเงินฝากให้ดีนะ เรามีเยอะ เราก็ใช้เยอะ เราไม่เคยเก็บ พออายุเยอะขึ้นเวลามันจำกัด ถ้าอายุไม่เยอะมากให้เอาเวลาไปใช้ เวลาหายากนะ เวลาสำคัญที่สุดแล้ว