วิธีที่ไม่ค่อยแนะนำหากแต่นิยมทำเพื่อคว้ามาซึ่งความสำเร็จด้านการเงิน คือการไปลอกคนนั้นคนนี้มา พร้อมอ้างว่า “แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ทำแบบนี้นะ” เช่นอะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการประสบผลความสำเร็จควรมีความรู้รอบด้านในสไตล์ของตัวเองบ้าง ไม่ใช่สักแต่ลอกเขามา
หนึ่งในความรู้รอบด้านที่อยากนำเสนอ ไม่ใช่แค่ Technical Analysis, Fundamental Analysis หรือประโยคเท่ ๆ จาก บิล เกตส์ คือเข้าใจรากของระบบที่ฝังลึกอยู่ในสังคม ปกครองและขับเคลื่อนโลกใบนี้มานานหลายศตวรรษ เรียกว่า ทุนนิยม (Capitalism) ซึ่งเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยิน แต่ถ้าวิชาการไม่ใช่ของถนัดคงจะเบือนหน้าหนี จึงอยากย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องชำนาญขนาดนั้น ขอแค่เข้าใจว่าเป็นหนึ่งในพลวัตสำคัญ ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอารมณ์ของผู้คน รวมถึงตัวเราเองด้วยก็เพียงพอ
เพื่อไม่ให้หนักจนเกินไป เลยอยากหยิบภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นชื่อดังจากปี 2001 เรื่อง “Spirited Away” กำกับโดย Hayao Miyazaki ซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ชั้นยอด และมีน้ำหนักอย่างมากในการแสดงมิติต่าง ๆ ของทุนนิยม โดยเฉพาะผลกระทบของมัน ด้วยสัญลักษณ์ผ่านงานศิลปะอย่างเพลิดเพลิน
ความรักในวัตถุ ที่มาพร้อมระบบทุนนิยม
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของ “ชิฮิโระ โองิโนะ” เด็กสาวอายุ 10 ขวบ ที่ต้องย้ายบ้านไปพร้อมกับพ่อแม่ของเธอ พวกเขาหลงทางไปในสถานที่ลึกลับที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ ด้วยความหิวโหย พ่อแม่ของชิฮิโระจึงกินอาหารของเหล่าวิญญาณ ก่อนถูกสาปให้เป็นหมูโดยแม่มด “ยูบาบา” เจ้าของโรงอาบน้ำ
ฉากต้นเรื่องเปิดมาก็เตะตามากแล้ว เพราะเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ความโมเดิร์นเต็มตัว สามารถเห็นได้จากแบรนด์ Adidas หรือขนม Pocky ดังรูปด้านบน และรถที่พ่อของชิฮิโระกำลังขับ ก็คือ 1996 Audi A4 Quattro แสดงถึงครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ
พวกเขาขับผ่านศาลเจ้าเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ข้างถนน ซึ่งพ่อของเธอก็อธิบายว่าเป็น “บ้านของวิญญาณ” ด้วยน้ำเสียงของคนที่ไม่ได้มีความเชื่อหรือนับถือเท่าไหร่ สัญลักษณ์ที่ผู้แต่งน่าจะพยายามสื่อ คือพ่อแม่ของเธอเปรียบดังยุคใหม่แห่งญี่ปุ่นที่ยึดในวัตถุนิยม แต่หันหลังให้กับประเพณีและจิตวิญญาณ
พวกเราทุกคนคงเคยได้ยิน ว่าระบบทุนนิยมฉุดให้มนุษย์มักลืมธรรมชาติ และหันมาเชิดชูวัตถุมากแค่ไหน คงเห็นกันชัดเจนแล้ววันนี้ สภาพแวดล้อมของโลกเราถูกทำลายจนยับเยิน ซึ่งตรงนี้ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Tim Kasser จาก Knox College ก็ได้ย้ำว่า “รูปแบบทุนนิยมของพวกเรา ส่งเสริมให้มีการมอบคุณค่าที่สูงต่อวัตถุ”
วัฏจักรอันน่าฉงน ของมนุษย์เงินเดือน
ฉากต่อมาที่น่าสนใจ ก็คือโรงอาบน้ำของยูบาบา ซึ่งเป็นที่ ๆ วิญญาณต่างเข้ามาแช่น้ำร้อนให้ผ่อนคลายชำระล้างตัวเองจากความสกปรกที่มนุษย์กระทำ การผจญภัยของชิฮิโระจึงเกิดขึ้น เพราะเธอต้องทำงานหนักและอดทนเพื่อช่วยให้พ่อแม่กลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง
สถานที่ประกอบการของแม่มดยูบาบาหรือโรงอาบน้ำ อาจแสดงถึง “องค์กรทุนนิยม” ที่มียูบาบาเป็นตัวแทนของเจ้านายที่เอารัดเอาเปรียบพนักงานเพื่อเพิ่มกำไร เธอมีวิธีควบคุมพนักงานด้วยการใช้เวทมนตร์ขโมยชื่อของพวกเขา ซึ่งชิฮิโระเองจำใจโดนขโมยเพื่อแลกกับการทำงานที่นั่น ส่วนนี้ดูคล้ายกับตอนที่พวกเราเซ็นสัญญาเข้าทำงานยังไงยังงั้น
นอกจากนี้ อีกความหมายที่คลี่คลายให้เห็น คงกำลังย้ำว่าตัวตนที่แท้จริงของคนเรากำลังโดนกดทับ และถูกตราว่างาน ก็คือ “ตัวตน” ของเรานั่นแหละ และจากเด็กน้อยที่ชื่อชิฮิโระ ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรไปมากกว่าพนักงานที่มีคุณค่าแค่เพียงทำเงินให้กับธุรกิจของยูบาบา นี่คงเป็นอุปมาอุปไมย เปรียบชีวิตของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องเผชิญกับระบบทุนนิยม ทั้งตัวของชิฮิโระและยูบาบาเอง แค่จากเหรียญคนละด้านก็เท่านั้น
การที่เราทุกคนอยากมีการเงินที่มั่นคง อยากรวยขึ้น จึงต้องเทรดหรือลงทุน ลึก ๆ จะได้หนีชีวิตแบบนี้ แล้วได้มาซึ่งอิสระรึเปล่า? เพราะความมั่นคงทางการเงิน ก็หมายถึงอิสระในการใช้ชีวิตไม่รูปแบบใดก็รูปแบบนึง แต่ก็น่าแปลกดี เพราะถ้าในยุคนี้ไม่ทำงาน ก็ไม่มีรายได้ที่มั่นคง ช่างเป็นวัฏจักรที่น่าฉงนจริง ๆ
“หมู” ตัวแทนแห่งความโลภ
ตรงนี้ขอย้อนกลับมาพูดถึงพ่อแม่ของชิฮิโระกันสักนิด จากที่ได้กล่าวไปด้านบน พ่อแม่ของเธอถูกสาปให้กลายเป็นหมูเพราะกินอาหารของเหล่าวิญญาณแบบไม่ยั้ง พวกเขาแทบไม่สนเลยว่ากำลังกินอะไรอยู่ ขอแค่ให้ได้กินเยอะ ๆ แก้ความหิวก็พอ
ลูกสาวของพวกเขาพยายามเดินเข้ามาห้าม แต่ผู้เป็นพ่อกลับตอบว่า “ไม่ต้องห่วงนะลูก พ่ออยู่ตรงนี้ทั้งคน มีทั้งบัตรเครดิตและเงินสด” ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงแนวคิดของวัตถุนิยม ดังนั้นการที่พวกเขากลายเป็นหมู ก็เพราะหมูเป็นสัญลักษณ์สุดคลาสสิกของความโลภ (Greed)
ทีนี้ก็คงพอจะเข้าใจกันแล้วใช่ไหม ว่าทำไมภาระถึงตกมาที่ชิฮิโระในการช่วยเหลือพ่อแม่ของเธอ?
ก็แค่ ‘หมาก’ ตัวนึงในระบบ?
“คะมะจี” เป็นอีกตัวละครที่ควรพูดถึงอย่างมาก เพราะมันสะท้อนพวกเราทุก ๆ คนภายใต้ระบบทุนนิยม ตัวละครนี้คล้ายแมลงมุมเพราะมีหกแขน ทำงานอยู่ชั้นใต้ดินสุดของโรงอาบน้ำ คอยควบคุมให้ทุกอย่างดำเนินอย่างราบรื่น ซึ่งเมื่อเขาเจอกับชิฮิโระ ก็แนะนำตัวเองห้วน ๆ เลยว่าตนเป็น “ทาสแห่งห้องคุมความร้อน“
แขนทั้งหกของคามาจิ ดูจะเป็นตัวแทนของการทำงานเกินกำลัง (Overwork) เพราะเขาทำงานได้เท่ากับคนสามคน แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมใด ๆ ซึ่งก็ดูจะไม่แตกต่างจากพนักงานบริษัทที่คาดว่าจะทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มนั่นแหละ
ภายในพื้นที่ทำงานของคะมะจี มีเหล่าวิญญาณตัวเล็ก ๆ สีดำคอยช่วยอีกทีนึง ชื่อว่า “ซูซูวาตาริ” ที่ถูกใช้ให้ทำงานทั้งชีวิต แน่นอนว่าพวกมันถูกเอาเปรียบ ทำงานหนักเกินกำลัง และถูกแทนที่ได้ง่าย
ซูซูวาตาริคงฉายภาพชนชั้นแรงงานที่สิ้นหวัง อีกด้านที่ไม่น่าดูของโรงอาบน้ำอันงดงามของยูบาบา ซึ่งแน่นอนว่าขับเคลื่อนโดยความกดขี่ของระบบทุนนิยม
ตัวละครชนชั้นแรงงานอีกตัวที่มีบทบาทสำคัญ มีนามว่า “ริน” ซึ่งเป็นพนักงานพี่เลี้ยงที่คะมะจีฝากฝังให้คอยช่วยชิฮิโระ มีประโยคนึงที่รินพูด ซึ่งน่าจะสะท้อนเสียงของพนักงานทุกคนที่กำลังเหน็ดเหนื่อยกับงาน “ฉันต้องหาทางออกจากที่นี้ ซักวันนึงฉันจะขึ้นไปบนรถไฟนั่น” แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของริน ที่เพียงแต่วาดฝันไว้แต่ไม่เคยมีแผนที่จริงจังซักที เพราะโซ่แห่งระบบทุนนิยมและภาระอื่น ๆ ในชีวิตที่ตรวนเธอไว้กับงาน
สิ่งที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ และแตะ ๆ ไปบนผิวของระบบอันซับซ้อนของทุนนิยม แต่ท้ายสุดแล้ว ก็หวังว่าจะพอเห็นภาพว่าหลายคนรอบตัวรวมถึงตัวเราเอง มีความสัมพันธ์กับระบบนี้อย่างไร เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ผู้คนตื่นมาใช้ชีวิตในยุคโมเดิร์น รวมถึงหาวิธีต่าง ๆ เพื่อได้มาซึ่งความมั่นคงทางการเงิน
และเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจ้บริบทหรือบทบาทของมัน ก็อาจจะพอหาลู่ทางใน ‘สไตล์’ ของตัวเองเพื่อไปถึงเป้าหมายได้ดีขึ้น เพราะถ้าเทียบระหว่างคนที่เข้าใจกับคนที่ไม่เข้าใจถนนหนทาง เชื่อว่าแบบแรกมีโอกาสรอดมากกว่าเยอะนะ!
รูปภาพประกอบทั้งหมดจาก:
https://www.ghibli.jp/works/chihiro