เมื่อนึกถึงคำว่า ‘ผู้ควบคุมตลาด’ ภาพของ ‘มหาเศรษฐี’ ระดับเจ้าสัว หรือเหล่า ‘ผู้ทรงอิทธิพล’ อาจผุดขึ้นในหัว โดยเฉพาะมองจากมุมมองของประเทศไทย
แต่หากข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังดินแดนลุงแซมอย่างสหรัฐอเมริกาอาจแตกต่างออกไป เพราะผู้ทรงอิทธิพลเหนือตลาดอาจไม่ได้ผูกอยู่กับชื่อตระกูล แต่มาในรูปแบบบริษัทกองทุนยักษ์ ที่กุมขุมทรัพย์อันมหาศาลไว้ภายใต้การบริหาร
เกมเศรษฐกิจ 2 รูปแบบ และความเสี่ยงที่แตกต่าง
ไทย
ประเทศไทยคือกรณีศึกษาที่คุ้นเคยสำหรับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะด้านอำนาจทางเศรษฐกิจที่มักกระจุกอยู่ในมือกลุ่มนักธุรกิจ ตระกูล หรือบริษัทใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย และอาจใช้วิธีที่มีหุ้นไขว้ไปมาในธุรกิจอันหลากหลาย
เป้าหมายของรูปแบบนี้มักไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาตลาดโดยรวม แต่เพื่อปกป้องอิทธิพลและส่วนแบ่งตลาดที่ยึดครองไว้ ธุรกิจใหม่ ๆ ยากที่จะแทรกตัวเข้ามา นวัตกรรมอาจหยุดชะงัก และท้ายที่สุด ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากตัวเลือกที่จำกัดและราคาสินค้าที่สูงขึ้น
แม้อาจช่วยในแง่ความมั่นคงและมอบเครือข่ายอันเหนียวแน่น แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ขัดขวางโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่ ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในเชิงธุรกิจต้องพับเก็บไว้บนหิ้ง ดังนั้นความท้าทายของไทยคือการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบที่สามารถสลายโครงสร้างอำนาจที่ฝังรากลึก และกระตุ้นการแข่งขันที่สมบรูณ์
สหรัฐฯ
บนอีกฟากหนึ่งของโลก กองทุนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯอย่าง BlackRock, Vanguard และ State Street กลับผงาดขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทขนาดใหญ่กว่า 88% ที่อยู่ในดัชนี S&P500 แต่แทนที่พวกเขาจะเลือกที่รักมักที่ชัง – เป้าหมายหลักกลับไม่ได้อยู่ที่การชิงดีชิงเด่นหรือกำจัดใครให้พ้นทาง(เสมอไป) แต่จะมองการเติบโตเป็นหลักและผลกำไรจากตลาดหุ้นในภาพรวมมากกว่า
ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มกังวลว่าอิทธิพลอันล้นหลามนี้ อาจทำให้กองทุนยักษ์ ‘กลัวความเสี่ยง’ มากเกินไป และไม่สนับสนุนการลงทุนที่กล้าหาญซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนวัตกรรมที่แท้จริง กฎระเบียบจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้แน่ใจว่ากองทุนเหล่านี้ทำงานสอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แค่เสถียรภาพของตลาด
นอกจากนี้ อีกความน่ากังวลคือผู้จัดการกองทุนเพียงไม่กี่รายมีอิทธิพลต่อการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งจนสะเทือนได้ โดยที่นักลงทุนรายย่อยหรือคนทำธุรกิจบางครั้งไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว
ทางออกอยู่ที่ไหน?
ไม่มีรูปแบบใดที่ไร้ปัญหา และไม่มีรูปแบบใดที่ควรถูกมองว่า ‘เลวร้าย’ โดยเนื้อแท้ บทเรียนสำคัญคือเรื่องถ่วงดุล ทั้งสองประเทศต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างเหล่านี้ทำหน้าที่มอบสุขภาพที่ดีในระยะยาวให้ตลาดนั้น ๆ
สุดท้ายนี้ ตลาดหุ้นบางครั้งก็ไม่ใช่พื้นที่สีขาวและสีดำ หากแต่มันอาจอยู่กลาง ๆ เป็นเฉดเทาอันกว้างใหญ่ การไขกุญแจสู่ประตูแห่ง ‘ชัยชนะ’ อาจไม่ได้อยู่กับว่าใครเป็น ‘เจ้าของ’ แต่อยู่ที่ใครคุมการกระจายอำนาจและระบบ ความโปร่งใสในการบริหารงาน การวางข้อกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่รัดกุม เพื่อดูแลผลประโยชน์ของคนหมู่มาก
ในฐานะนักลงทุน สิ่งที่พอทำได้คือ ‘รับรู้’ และปกป้องผลประโยชน์ด้วยการศึกษาวิธีการออมและลงทุน รวมไปถึงเลือกผลิตภัณฑ์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งอย่างชาญฉลาด และไม่ว่า ‘เกมเศรษฐกิจ’ ของอเมริกาหรือไทยจะซับซ้อนแค่ไหน การมีความเข้าใจที่ดีและเตรียมพร้อมรับมือ จะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดกับตัวเราเอง