Web3 มีมานานนนแล้ว
ก่อนจะก้าวเข้าสู่เนื้อหา (หรือวรีกรรม?) ขอนาย “Elon Musk” กับ “การเงินแห่ง Web3” โดยมีจุดเชื่อมคือ social platform ชื่อดังอย่าง Twitter น่าจะต้องมีการพูดถึง Web3 กันซักนิด เพราะเชื่อว่าหลายคนถึงแม้จะเคยได้ยินเกี่ยวกับเจ้าสิ่งที่เรียกว่า Web3 แต่ยังคงเกาหัว ว่าสรุปมันคืออะไรกันแน่ และที่สำคัญ มันเกี่ยวกับชีวิตฉันยังไงเนี่ย?
หากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่ละยุคต่างมีชื่อของมัน ในแง่มุมของอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นอะไรที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ก็มีชื่อยุคของมันเช่นกัน โดยเรียกว่า “Web [ตัวเลข] [จุด] [ศูนย์]”
ก่อนหน้าที่ Web3 จะเป็นที่พูดถึงในวงกว้างระดับ mass media (สื่อระดับมวลชน) และตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเริ่มกลายเป็น pop culture (วัฒนธรรมป๊อป) เล็ก ๆ คำว่า Web [ตัวเลข] [จุด] [ศูนย์] นั้นถูกใช้ในวงที่ค่อนข้างแคบ
โดยแต่เดิมแล้ว “Web 3.0” (อย่าเพิ่งปนกับ Web3 กันนะ) มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1960s เริ่มมาจากคอนเซปต์ที่เรียกว่า “Semantic Web” ซึ่งในบทความนี้จะขอข้ามความหมายไปก่อน เพราะต้องบอกตรง ๆ เลย ว่าอธิบายยากมากหากไม่ไล่ประวัติของ Web 1.0 และ Web 2.0 ในเชิง Computing Science (วิทยาการคำนวณ) ที่ได้ยินแค่ชื่อก็มือก่ายหน้าผากแล้ว
แล้วเจ้า Web3 ที่ไม่มี [จุด] [ศูนย์] มาได้ยังไง?
คำตอบนั้นไม่ใช่นายอีลอน แต่เป็น “เกวิน เจมส์ วูด” (Gavin Wood) หนึ่งในโปรแกรมเมอร์ชื่อดังที่ช่วยก่อสร้างเหรียญคริปโตอันดับสองของโลกอย่าง Ethereum และผู้ก่อตั้งเหรียญ Polkadot ที่ปัจจุบันอยู่อันดับ 11
ซึ่งในปี ค.ศ. 2014 เกวินได้พูดถึงหัวใจของ Web3 ไว้ 4 ปัจจัย:
Web3 is decentralized อินเทอร์เน็ตจะถูกกระจายอำนาจ แทนที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มบางกลุ่มหรือคนบางคน
Web3 is permissionless คนทุกคมีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึง Web3 และจะไม่มีใครถูกกีดกันออก
Web3 has native payments คริปโตจะเป็นสกุลหลักในการใช้และส่งเงินออนไลน์ โดยไม่พึ่ง “โครงสร้างเก่า ๆ” ของธนาคารและบรรดา payment processor (ผู้ให้บริการชำระเงิน อย่าง PayPal)
Web3 is trustless อินเตอร์เน็ตจะถูกขับเคลื่อนโดย แรงจูงใจ (incentives) และ กลไกทางเศรษฐกิจ (economic mechanism) โดยไม่พึ่ง trusted third party หรือบุคคลที่สาม (ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากใช้ Windows แล้วไม่อยากใช้เว็บเบราว์เซอร์อย่าง Internet Explorer เพราะมันช้า เลยหันไปใช้ Google Chrome หรือ Firefox ซึ่งนี่คือ trusted third party ที่ไม่ได้มากับ Windows)
และในปี ค.ศ. 2021 หรือช่วงตลาดกระทิงของตลาดคริปโต เป็นตอนที่ Web3 ออกมาสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น จนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง หรือจากที่ได้กล่าวไปด้านบน คือมีความ mass มากขึ้น
อีลอนและบทบาทของ Twitter กับกระแส Web3
วกกลับมาที่นายอีลอน คงจะต้องกล่าวให้ชัดก่อน ว่าถึงเขาจะชูเรื่อง Web3 แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้เป็นแบบที่เกวินพูดไว้ 100% เพราะสุดท้ายแล้ว เขายังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแบนคนออกจากทวิตเตอร์หรือลบคอมเมนต์ ซึ่งในมุมหนึ่งก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความกระจายอำนาจแบบเต็มรูปแบบ
แต่สิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่น คือในเรื่อง เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) แต่ต้องไม่มี การยุยงให้เกิดความรุนแรง (Incitement to violence) จึงทำให้เขาเลือกที่จะปลดแบน ดอนัลด์ ทรัมป์, คานเย เวสต์ (ซึ่งตอนนี้กลับมาโดนแบนอีกครั้ง) และอีกหลายคน อารมณ์ประมาณ “ไม่ตาม 100% แต่ 50% ก็ยังดีนะ”
หนึ่งในสิ่งที่เขาได้กล่าวไว้ก่อนเข้ามานั่งคุมบัลลังก์ใหญ่ของ Twitter คือทำให้การเงินเป็นเรื่องง่าย ซึ่งรวมไปถึงการใช้คริปโตเป็น “สกุลเงิน” ซึ่งอันที่จริงก็ไม่แปลกอะไร เพราะประวัติของของเขาคือผู้ก่อตั้ง Paypal นั่นเอง
สิ่งที่พอช่วยยืนยันทิศทางลมที่อาจพัดมาในทางนี้ คือการที่ “ฉาง-เผิง-จ้าว” (Changpeng Zhao) CEO เว็บเทรดอันดับหนึ่งของโลกอย่าง ไบแนนซ์ (Binance) เข้ามาร่วมลงทุนใน Twitter พร้อมกล่าวว่า เขาหวังว่าจะช่วยให้อีลอนเดินไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ของ Twitter ได้ พร้อมขยายความเพิ่มเติม “ซึ่งนั่นรวมไปถึงการใช้คริปโตและเทคโนโลยีบล็อกเชน”
แน่นอนว่าเสียงจากอีกฝั่งที่ยังคงตั้งคำถามของจุดประสงค์หลักของนายอีลอน กล่าวว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเพียงผักชีโรยหน้า เพราะสุดท้ายแล้วยังดำเนินแบบเป็นศูนย์กลาง (centralized) และยังคงความ Web 2.0 ไว้ เพียงแต่หันมาใช้เทคโนโลยีบางส่วนของ Web3 ก็เท่านั้น
แต่ไม่ว่านายอีลอนผู้นี้จะมีเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร ทุกคนคงรู้ดีว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว” และถึงแม้จะเป็นการหยิบยกเทคโนโลยีของ Web3 หรือปัจจัยบางส่วนมาใช้ แต่หากมองไปในอนาคตก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้ ดั่งน้ำที่อยู่นิ่ง ๆ แม้เพียงโยนหินเล็ก ๆ ลงไปก็กระเพื่อมเป็นวงกว้างได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงไม่เสียหายอะไรเลยที่พวกเราทุกคนจะเริ่มเตรียมความพร้อมและค่อย ๆ ศึกษาเกี่ยวกับการเงินยุคใหม่โดยมีคริปโตเป็นศูนย์กลาง เพราะถ้าหากวันนั้นไม่มาถึง ก็ไม่เสียหายอะไรเพราะอย่างน้อยได้เรียนรู้และศึกษามาแล้ว แต่ถ้าวันนั้นมาถึงจริง ๆ วันที่เทรนด์การเงินเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ก็จะไม่รู้สึกว่ามันแปลกประหลาดและตามโลกไม่ทัน เพราะเมกะเทรนด์ใหม่ ๆ ย่อมมากับโอกาสดี ๆ ในด้านการเงินและการลงทุนเสมอ (แต่ต้องบริหารความเสี่ยงเป็นนะ!)