“ช่วงนี้เป็นไงบ้าง?”
“กินแต่มาม่าว่ะ”
นี่คือคำตอบแบบสั้น ๆ แต่ทรงพลัง ของพี่น้องชาวไทย (และต่างชาติ) หลายคนที่อยากจะสื่อว่า ช่วงนี้เงินในบัญชีร่อยหรอก็เลยต้องกินอยู่อย่างประหยัด ด้วยการมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นที่พึ่งพาในการ #saveเงินในบัญชี ดังนั้นถ้าใครจะชวนเพื่อนคนนี้ไปเที่ยวไหน อย่าได้ฝัน
หากใครรู้สึกซาบซึ้งในนวัตกรรมชิ้นนี้ ก็ขอให้ท่องจำขึ้นใจถึงชื่อบิดาแห่งวงการ ที่เป็นชาวญี่ปุ่นมีนามว่า ‘โมโมฟูกุ อันโด’ (Momofuku Ando)
กว่าจะมาเป็นนวัตกรรมที่รสชาติถูกปาก จัดเตรียมง่าย และที่สำคัญคือราคาไม่แพง ต้องผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายก่อน ซึ่งก็คือช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วอย่างที่รู้กันดีว่าญี่ปุ่นเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม เลยส่งผลให้เกิดวิกฤต โดยเฉพาะด้านคลังเก็บอาหาร
นายโมโมฟูกุพบว่าเสบียงที่สหรัฐฯส่งมาช่วย ได้แก่ แป้งข้าวสาลี ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้ใช้ทำขนมปังนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก
แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้คนกลับยอมเข้าคิวเรียงรายเป็นหางว่าว หิวก็หิว ยืนรอเพื่อที่จะได้กินราเมนร้อน ๆ
ดังนั้นนายโมโมฟูกุจึงเกิดไอเดียว่า ควรจะใช้แป้งสาลีพวกนั้นมาทำเป็นเส้นหมี่ แต่ก็ถูกปัดตกเพราะอุตสาหกรรมบะหมี่ในตอนนั้นดูไม่มีกำลังมากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งประเทศได้
แต่ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้นายโมโมฟูกุจับมาพลิกแพลงเองต่อ
มีเรื่องเล่าปากต่อปากว่า อยู่มาวันหนึ่งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เขานำบะหมี่ลงไปทอดแบบรวดเร็วบนน้ำมันเทมปุระที่กำลังร้อนของภรรยาที่กำลังเตรียมทำข้าวเย็น เลยค้นพบวิธีให้กลายเป็น “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ได้ แล้วหลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1958 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวสินค้าได้ออกสู่ตลาด ก็กลายเป็นสินค้าสุดฮิตในทันควัน
เพียงเวลาไม่นาน นวัตกรรมชิ้นนี้ก็ได้เป็นที่รักของคนจากทั่วทุกมุมโลก จนถึงขนาดที่ว่ากลายเป็นดังตัวแทนของสกุลเงินที่นักโทษในคุกของสหรัฐฯเอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของ จนถึงการเป็นอาหารที่สามารถช่วย ‘ภาวะความความหิวโหยของโลก’ (Global hunger)
ความรักในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยก็ไม่ได้น้อยไปกว่าใคร เพราะสถิติล่าสุดของปี 2022 จากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลก (WINA) พบว่าประเทศไทยมีความต้องการบริโภคสูงถึงอันดับ 9 เลย
ดังนั้นถึงแม้ประเทศไทยยังไม่เคยไปบอลโลก แต่ก็ยังมีความรักในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ถึงกับติด Top 10 ให้เป็นความภาคภูมิใจ!
ในเวลาเดียวกัน การมาของอินเทอร์เน็ต สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘มีม’ ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการล้อเลียนอะไรหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายมาเป็นมีมสุดนิยม ที่ถูกเอามาเปรียบในเชิงขำขัน ถึงคนที่กำลังประหยัดเงิน ด้วยคุณสมบัติที่ได้กล่าวไปในขั้นต้นคือ รสชาติถูกปาก จัดเตรียมง่าย และราคาไม่แพง
โดยเฉพาะความ ‘จัดเตรียมง่าย’ และ ‘ราคาไม่แพง’ ได้ถูกสะท้อนออกมาเป็นภาพลักษณ์ของคนที่ใช้ไลฟ์สไตล์แบบกินไว้เพื่อ ‘ยังชีพ’ แล้วด้วยความที่มีมนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่นิยมใช้ของชาวเน็ต ก็ยิ่งทำภาพลักษณ์นี้ถูกผูกให้มีความเป็นมีมล้อไปในตัวโดยปริยาย