ย้อนกลับไปดูในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว K-pop ไม่ได้พึ่งมาดังช่วงนี้แต่อย่างใด หากแต่มีกระแสมานานมากแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเลย เทรนด์นี้ถูกเรียกว่า “Korean Wave” หรือ “Hallyu” ซึ่งรวมตั้งแต่ ซีรีส์ หนัง แฟชั่น ไปจนถึงอาหารและอื่น ๆ อีกมากมาย
ในช่วงปีที่ผ่านมาอาจจะน่าจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะมีสาวมากความสามารถอย่าง “ลิซ่า” (ลลิษา มโนบาล) แห่งวง “Blackpink” ที่เป็นคนไทย ช่วยยกกระแสให้ Korean Wave โด่งดังเป็นพลุแตกมากยิ่งขึ้นจนไม่รู้ว่าเพดานอยู่ตรงไหนกันเลยทีเดียว!
พลังแห่ง “Lisa Effect”
ลิซ่าได้แสดงศักยภาพอันแข็งแกร่ง ด้วยการทำให้เห็นว่าเธอไม่ใช่เป็นเพียงนักร้องหรือนักเต้นที่เก่งกาจ แต่ยังเรียกได้ว่าเป็น “Trendsetter” หรือ “ผู้นำเทรนด์” ไม่ว่าเธอจะสวมใส่อะไร พูดหรือโชว์สินค้า ไปเยี่ยมสถานที่ไหน ผู้คนทั่วทั้งโลกก็จะให้ความสนใจกับสิ่งนั้นอย่างล้นหลาม
ยกตัวอย่างในกระแสที่ผ่านมาก็จะมีผ้าถุงไทยจากการที่เธอได้ไปเยี่ยมสถานที่โบราณในจังหวัดอยุธยา หรือยกถุงโชว์ดื่มนมหนองโพพร้อมเมมเบอร์คนอื่นในวง ซึ่งมักถูกเรียกว่า “Lisa Effect”
Soft power ทำให้ผู้อื่นต้องการและยอมรับ
สิ่งที่เรียกว่า Lisa Effect คือตัวอย่างชั้นดีของ “Soft power” ที่โดยส่วนมากมักจะเข้าใจว่าเป็นการมีอิทธิพลในการเผยแพร่วัฒนธรรม ในมุมนึงความเข้าใจนี้ก็ไม่ผิด แต่ทาง “สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)” ได้ระบุไว้ว่าเป็นความหมายที่อาจคลาดเคลื่อนและแคบไปนิด
ตามนิยามเดิมแล้ว “ดร.โจเซฟ เนย์” (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ริเริ่มคำนี้ได้อธิบายไว้ว่าสิ่งนี้คือ:
ความสามารถที่ทำให้ผู้อื่น ‘ต้องการ’ และ ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่คุณต้องการ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องดึงดูดความต้องการของผู้อื่นให้พวกเขาเกิดการยอมรับด้วยความ ‘เต็มใจ’ ปราศจากการบังคับ ขู่เข็ญ
ซึ่งแน่นอนว่าพลังที่ลิซ่ามี คือตัวอย่างที่ชัดเจนและทรงพลังของ Soft power เพราะอินฟลูของเธอเอื้อมไปถึงแฟน ๆ มากมายทั่วโลก ซึ่งเป็นพลังที่ทรงอานุภาพมาก
ผลบวกต่อเศรษฐกิจ
ธุรกิจหรือสินค้าใดที่ลิซ่าได้ไปแตะหรือเป็นหน้าเป็นตาให้ ยอดขายก็พุ่งกระฉูดขึ้นทันที ยกตัวอย่างในกรณีผ้าถุงไทยก็พูดกันให้สะพัดโซเชียลฯว่าขายเกลี้ยงสต็อกแล้ว หรืออย่างนมหนองโพก็แซวกันให้ทั่วว่าเตรียมหมดสต็อกเช่นกัน
และที่มากไปกว่านั้น พลังของเธอไม่ได้หยุดอยู่แค่การทำให้สินค้ายอดพุ่ง แต่ทางเศรษฐกิจก็มีผลประโยชน์มากมาย เพราะช่วยให้บรรดาแฟน ๆ อยากไปท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีคนอยากตามไปสัมผัสวัฒนธรรมถึงถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่งออกทางวัฒนธรรม
การกระตุ้นให้สนใจทางด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ย่อมนำไปสู่ “การส่งออกทางวัฒนธรรมมากขึ้น” (Cultural export) ตั้งแต่เพลงและภาพยนตร์ไปจนถึงอาหารและแฟชั่น ส่งผลดีต่อ GDP ของประเทศ ซึ่งความสำเร็จอันนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “วัฒนธรรมร่วมสมัย” หรือ “Pop Culture” เป็นตัวกลางชั้นยอดในการดัน Soft power และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
คงเห็นกันแล้วว่าพลัง Soft power ของลิซ่ามีผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนทั่วโลก เธอมีอิทธิพลต่อสิ่งที่เราซื้อ สิ่งที่เราฟัง แม้กระทั่งมุมมองที่มองเข้าไปที่วัฒนธรรมอื่น ๆ และอิทธิพลนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เธอกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก แต่ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อีกด้วย