การหาต้นตอของความเหลื่อมล้ำในยุคโมเดิร์น เปรียบดั่ง “งูกินหาง”
คำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” น่าจะเคยผ่านหูของคนหลายคนมาแล้ว และหนึ่งในวิธีตีความหมายของคำพูดนี้ก็คือการสื่อให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ที่เมื่อความ “มั่งคั่ง” กระจุกอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง แล้วพอขาดความสมดุลมากเข้า ๆ ก็มักจะสะท้อนออกมาให้เห็นถึงความยากจนในอีกจุดหนึ่ง
หากพูดถึง “สาเหตุ” ของการเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันยังคงเป็นข้อถกเถียงมากมายจากหลากหลายภาคส่วน ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงมาในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือตัวเมือง ก็ยิ่งมีดีเทลเยอะแยะมากมายที่สามารถนำมาดีเบตอย่างไม่หยุดหย่อนราวกับโอโรโบรอสหรืองูโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของความไม่มีที่สิ้นสุด
แต่สิ่งนึงที่คงไม่ต้องมานั่งถกกันให้มากความก็คือ “ผลกระทบ” ของความเหลื่อมล้ำทางการเงินนั่นเอง
แล้วเมื่อฉายภาพนี้ในมุมของการเติบโตของมหานคร (Urbanizaton) ก็มักจะกลายเป็นการสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปแบบของ “ความยากจนบนท้องถนน” ที่ค่อนข้างชัดเจน ยกตัวอย่างจากรายงานของมหาวิทยาลัยซิดนีย์เมื่อปี 2011 พบว่าถ้าเมืองยิ่งใหญ่และมีประชากรอาศัยกันแบบกระจุกตัวสูง ก็จะยิ่งบ่มเพาะความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และการจะเห็นภาพ ๆ นี้ พวกเราทุกคนคงแทบไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล เพราะคงเคยเห็นกันบ้างในชีวิตประจำวันเวลาเดินทางไปไหนมาไหน
หนึ่งในความเข้าใจโดยทั่วไปของหลายคน มักจะทราบกันดีว่าการเติบโตของมหานคร เมื่อผูกเข้ากับระบบทุนนิยม (capitalism) อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยของกองภูเขาแห่งปัญหา ที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเห็นบนท้องถนน
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน (หรือความเหลื่อมล้ำด้วยรวม) ถ้ามองจากมุมของนักโบราณคดี แท้จริงแล้วสามารถย้อนกลับไปให้เห็นได้เกือบ 10,000 ปีที่แล้ว!
ด้วยวิธีการมองจากมุมของนักโบราณคดี อาจจะพอเยียวยาใจ ทำให้รู้สึกราวกับว่าต้นตอของความเหลื่อมล้ำ มีความ “งูกินหาง” น้อยลง หรือก็คือ เริ่มเห็นถึงต้นตอของปัญหาในมุมที่ “เป็นกลาง” มากกว่าเดิม (หรือเปล่า?)
เรื่องเล่าจากแดนไกล ระหว่าง “ชนเผ่ามายา” กับการล่าอาณานิคมของ “สเปน”
ผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์บริเวณที่ราบสูงของเม็กซิโกในปัจจุบัน เคยเป็นที่อาศัยของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของ “จักรวรรดิแอซเท็ก” หรือรู้จักสั้น ๆ ว่า “ชนเผ่ามายา” จนกระทั่งล่มสลายในที่สุด โดยมีจุดเริ่มต้นจากการล่าอาณานิคมของสเปน
นักโบราณคดีได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์นี้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ระบบสังคมของจักรวรรดิแอซเท็กมีความซับซ้อนมาก มีพลานุภาพทางการเมือง มีประชากรอาศัยกระจุกตัวสูงและการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน กลับมีความเหลื่อมล้ำทางการเงินที่ค่อนข้างกลาง ๆ เมื่อเทียบกับช่วงตอนปลายของยุคล่าอาณานิคมในเม็กซิโก ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่า
การเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในเหตุผลของนักโบราณคดีได้กล่าวไว้ว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ในระดับสถาบันทางสังคมบวกกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น การกำเนิดของทรัพย์สินส่วนบุคคล ระบบการปกครองของจักรวรรดิสเปน เศรษฐกิจที่เน้นส่งออก และระบบ “เอ็นโกเมียนดา” (encomienda system) ซึ่งเป็นระบบการให้รางวัลแก่ชาวสเปนที่สามารถพิชิตดินแดน ซึ่งมีการอนุมัติจากพระราชีนิให้สามารถครอบครองได้ ซึ่งนำไปสู่การวางระเบียบใหม่ของ เชื้อชาติ วรรณะ และที่สำคัญที่สุด การพระราชทานแรงงานชนพื้นเมืองให้กับเหล่ากองกิสตาดอร์และผู้นำอื่น ๆ ล้วนเป็นปัจจัยร่วมในการทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในคนหมู่น้อย
ด้วยชุดข้อมูลนี้ ทำให้นักโบราณคดีกลุ่มนี้ตั้งคำถามที่จริงจังขึ้นมาว่า จุดเริ่มต้นของการเหลื่อมล้ำมาจากอะไรกันแน่?
จุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำในมุมของนักโบราณคดี
ย้อนกลับไปยุคสมัยไพลสโตซีน (ชื่อของยุคทางธรณีวิทยา) ผู้คนอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กไร้ความแออัด หนึ่งในปัจจัยที่ “ทับ” ความแตกต่างด้านความมั่งคั่งคือ การที่ต้องเคลื่อนที่อยู่บ่อยครั้งจากความไม่มั่นคงในหลายด้านของการใช้ชีวิตที่ต่ำ และการที่ไม่ค่อยสามารถคาดการณ์ในการหาแหล่งอาหารได้ ดังนั้นจึงแทบไม่มีช่องว่างในการโอนถ่ายของความมั่งคั่งระหว่างรุ่นสู่รุ่นเลย
ตัดมาที่สมัยโฮโลซีนซึ่งก็คือยุคปัจจุบัน การพัฒนาของการทำฟาร์มทำให้ความจำเป็นที่ต้องเคลื่อนที่น้อยตัวลงมาก สุขภาพความเป็นอยู่ของสตรีดีขึ้น จนตามมาด้วยการขยายตัวที่สูงขึ้นของประชากรในกลุ่มนั้น ๆ เมื่อนั้นจึงเกิดการแบ่งแยกภายในอย่าง “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ตามการเติบโตของกลุ่ม และเริ่มมีการแบ่งส่วน เช่น กลุ่มเครือญาติหรือกลุ่มที่มีความสัมพันธเชื่อมกัน ไปจนถึงที่การมีตัวตนของตำแหน่ง “ตัวแทนกลุ่ม” ที่จุดชนวนให้กับการพัฒนาสถานะที่ไม่เท่าเทียมและอำนาจ แล้วสิ่งนี้เองที่อาจทำให้มีการส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่นได้
ในจุดนี้สามารถทำความเข้าใจได้ว่า การเพิ่มขึ้นของประชากร (แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยตายตัว!) เป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดโอกาสในการก่อตัวของความแตกต่างด้านความมั่งคั่งและความมีชื่อเสียงภายในกลุ่ม ส่วนปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ที่เพิ่มอัตราของความเหลื่อมล้ำได้แก่:
- สภาพอากาศที่มั่นคงขึ้น ทำให้เก็บทรัพยากรได้มีเสถียรภาพ จึงสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
- การที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อยทำให้ทรัพยกรโอนถ่ายไปอีกรุ่นได้ง่ายขึ้น (และสะสมได้)
- ทรัพยากรบางส่วนที่สามารถโอนถ่ายได้เกิดความขาดแคลน
- เกิดการจำกัดในการแชร์ทรัพยากรจากบรรทัดฐานของแนวคิดด้าน “ทรัพยากรส่วนตัว”
- การสร้างผลผลิตที่เกินกว่าความจำเป็นในครัวเรือน (โดยเฉพาะสังคมที่เน้นไปทางเกษตรกรรม) เปิดโอกาสให้มีการเกิดขึ้นของการเอารัดเอาเปรียบและการกักตุน
- การปิดกั้นโอกาสในด้านการปกครอง
ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเงินและความมั่งคั่ง เป็นประเด็นสำคัญมาหลายยุคสมัย ในสมัยนี้ก็ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่นำมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง
การเติบโตของมหานคร อาจเติมเชื้อให้ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน จนสะท้อนให้เห็นบนท้องถนนที่สามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นผลลัพธ์จากหลากหลายปัจจัยในยุคโมเดิร์น แน่นอนว่าย่อมมีส่วนร่วมอย่างมากและไม่ได้ผิดอะไรเลย เพียงแต่การอธิบายจากมุมมองของนักโบราณคดีในครั้งนี้ อาจช่วยเสริมความรู้และความเข้าใจให้เห็นภาพได้ดียิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่าปัญหาบางปัญหา เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์และศึกษาให้ลึก อาจช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน เสริมสร้างโอกาสอนาคตที่ดียิ่งขึ้นได้