การ ‘เทรด’ อาจทำให้รู้สึกสนุก ตื่นเต้น ทำให้อะดรีนาลีนสูบฉีดได้โดยไม่ต้องออกกำลังกาย และที่สำคัญคือการทำเงินได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก
แต่แน่นอนว่า การที่จะสามารถเทรดแล้วมีโอกาสทำกำไรได้ จะต้องมีความรู้ ทักษะ และวินัย ควบคู่กันไปด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากการพนันดี ๆ นี่เอง ซ้ำร้ายไปมากกว่านั้น อาจทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ยิ่งเทรดยิ่งแพ้’ ซึ่งพอหันมาดูเงินที่ลงไปก็อาจสายไปเสียแล้ว
ดังนั้นการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ยิ่งเทรดยิ่งแพ้ จึงเป็นเรื่องเบสิกที่หลายคนมักจะมองข้าม และกระโดดเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นทันที ยิ่งถ้าเป็นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนี่ไม่ต้องพูดถึง ผันผวนยิ่งกว่าตลาดหุ้นหลายเท่าตัว
เราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อเทรดถี่ ๆ ก็จะเป็นการเจอกับตลาดที่ผันผวนบ่อยครั้ง และอาจนำมาซึ่งอัตราเทรดเสียที่บ่อยมากขึ้น ยิ่งเมื่อรวมกับการใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ที่ผิดแล้ว จะทำให้นักเทรดรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความพะวักพะวน ผลกระทบก็คือการตัดสินใจที่ผิดพลาดและมักจะต้องชดใช้ในราคาที่แพง
หนึ่งในหลุมพรางที่บรรดานักเทรดทั่วไปมักจะตกคือ การเทรดด้วยอารมณ์ (emotional trading) หรือก็คือการตัดสินใจบนอารมณ์ แทนที่จะวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล
ดังนั้นการเทรดด้วยอารมณ์ที่มักจะเป็นเหมือนหมอกหนา ๆ บดบัง ดุลพินิจ วิจารณญาณ และการตัดสินที่เหมาะสม ผลกระทบย่อมป็นด้านที่ไม่ดีนัก เช่น:
- พฤติกรรม ‘อยากเทรดก็จะเทรด ไอ ดอน แคร์!’
- การเทรดเกินความเหมาะสม
- ประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงที่ต่ำ
ในทั้งหมดนี้ สิ่งที่ดูจะน่ากลัวที่สุดคืออาการ ‘หัวร้อน’ ที่ดันไปเติมไฟให้กับความอยาก ‘เทรดเพื่อล้างแค้น’ ซึ่งถูกครอบด้วยความโกรธหรือหงุดหงิด โดยมีเป้าหมายคือการเอาเงินที่เสียคืนมาให้ได้ แล้วถ้าได้กำไรด้วยคือสุดยอด!
นี่เป็นตัวร้ายที่มักนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด ซึ่งอาจยกระดับความเสียหายจากการชดใช้ในราคาแพงเป็นอะไรที่หนักกว่านั้น…
‘โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า’ หากใครเคยได้ยินคำนี้ เชื่อว่าน่าจะสัมผัสถึงความจริงนั้นได้ตอนเทรดนี่แหละ
แล้วเมื่อเห็นถึงความอันตรายในการใช้อารมณ์ ควรทำยังไงต่อ?
มีเรื่องเล่าอยู่ว่า นาวิกโยธินจากสหรัฐฯ นามว่า Jake D. ได้ขับรถผ่านจุดวางระเบิดที่อัฟกานิสถาน เขาก้มลงไปมองขาตัวเองแล้วพบว่าหายไปกับระเบิดเกือบหมดจนถึงเข่า ในตอนนั้นเขาจำวิธี ‘หายใจ’ ได้จากหนังสือที่สอนตอนยังเป็นนายทหารหนุ่ม
จากเทคนิคการหายใจนี้ ทำให้ Jake สามารถอยู่ในภาวะที่สงบนิ่ง สามารถมองดูนายทหารในกลุ่มคนอื่น ๆ แล้วโทรเรียกขอความช่วยเหลือ พร้อมกับการปฐมพยาบาลขาตัวเองในเบื้องต้น (รัดขา) ก่อนหมดสติไป หลังจากนั้นก็มีคนได้บอกเขาว่า ถ้าไม่ได้ปฐมพยาบาลขาตัวเองในเบื้องต้น เขาคงเสียชีวิตจากการเสียเลือดไปแล้ว
ถ้าหาก Jake สามารถใช้เทคนิคหายใจให้ตัวเองพ้นจากการเสียชีวิตได้ ก็ย่อมสามารถช่วยหลายคนให้คลายอารมณ์ได้ ในมุมของการเทรดคือการทำใจให้นิ่งไว้ก่อน
ดังนั้นเทคนิคการหายใจคือวิธีแรกในการก้าวข้ามอารมณ์ จากงานวิจัยโดย มหาวิทยาลัยเยล และ มหาวิทยาลัยแอริโซนา พบว่าการเปลี่ยน ‘จังหวะ’ การหายใจเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายผ่อนคลาย ด้วยการทำให้หัวใจเต้นช้าลง กระตุ้นประสาทเวกัส (vagus nerve) หนึ่งในระบบประสาทสมองที่ช่วยร่างกายในด้านการผ่อนคลาย
เมื่อเรานิ่งแล้ว จะสามารถรับรู้และรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีเวลาในการทำความเข้าใจถึงการตัดสินใจที่ผิด ๆ หากใช้อารมณ์เป็นตัวนำ
อย่างที่สอง สิ่งที่หลายคนน่าจะรู้อยู่แล้วแต่ไม่ค่อยทำกันคือ การวางแผนแล้วใช้เวลาในการเข้าใจถึงสิ่งที่จะได้หรือเสียจากการเทรดนั้น ๆ
สุดท้ายก็คือการฝึกความใจเย็นและพยายามอย่าตอบสนอง (ด้วยอารมณ์ลบ ๆ) ทุกครั้งที่ราคามีการขยับเขยื้อนในระยะสั้น
ในกรณีนี้ก็กลับไปที่บอกในเบื้องต้นว่า ความรู้ ทักษะ และวินัยนั้นสำคัญ
คงจะได้เห็นกันแล้วว่า การเทรดด้วยอารมณ์นั้นอันตรายแค่ไหน ทำไมถึงทำให้เกิดสถานการณ์ยิ่งเทรดยิ่งแพ้ได้ จนอาจนำไปสู่การหมดเนื้อประดาตัวในที่สุด