ความรักทำให้โลกสดใส… แต่ถ้าอกหัก โลกก็อาจดูหม่น ๆ ไปสักพัก เหมือนเวลาเราเลือกหุ้นอย่างตั้งใจ หวังจะคว้ากำไร แต่สุดท้ายโดนหุ้นหักหลัง ราคาไหลลงจนดอยกินใจซะอย่างนั้น
เฮ้อ รู้ว่าไม่มีอนาคตแล้ว แต่ทำไมเดินออกมายากเย็นจัง?
ทำไมการ Cut Loss มันเป็นเรื่องจำเป็น?
เหมือนเวลาที่เรารู้ว่าความสัมพันธ์ไปต่อไม่ได้ การยอมตัดใจ อาจเจ็บแต่จบแน่นอน เพราะอย่างน้อยเราก็เปิดโอกาสให้ตัวเองพบความสุขครั้งใหม่ ในโลกการลงทุนก็เหมือนกัน หุ้นบางตัวก็เหมือนแฟนเก่า
ไม่ดีก็ปล่อยไปสิ! ยิ่งดอยนานก็ยิ่งทำร้ายพอร์ตการลงทุนเปล่า ๆ
Cut Loss คือการยอมรับว่าการวิเคราะห์ของเราอาจมีข้อผิดพลาด เราสามารถนำเงินก้อนนั้นไปใช้กับหุ้นที่มีอนาคตสดใสกว่า คิดซะว่ามันเป็นการหยุดเจ็บเพื่อลุกขึ้นสู้ต่อ ดีกว่านอนปล่อยให้หุ้นราคาตกทำร้ายเราไปเรื่อย ๆ
แต่เมื่อไหร่ต้องตัดใจ? แล้วจะทำยังไงให้ “เจ็บน้อยสุด”?
นักลงทุนแต่ละคนมีความทนทานต่อความเสี่ยงไม่เท่ากัน แต่เรามีตัวช่วยที่ทำให้การตัดสินใจมีเหตุผลยิ่งขึ้น
ตั้ง Stop Loss ล่วงหน้า
เลือกระดับราคาที่รับได้ก่อนเข้าซื้อหุ้น ถ้าราคาตกถึงระดับนั้น… ปล่อยให้ระบบขายอัตโนมัติจัดการเลย ไม่ต้องเจ็บปวดเวลาตัดสินใจเอง
วิเคราะห์หุ้นอยู่เสมอ
ถ้าสถานการณ์ธุรกิจหรือแนวโน้มอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงในทางลบ หุ้นอาจไม่มีทางฟื้น ขยันศึกษาดูข่าวเกี่ยวกับหุ้นที่ถือไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจจะดีที่สุด
อย่า “เสียดายของ” จิตวิทยานี้อันตรายสุด ๆ
เราอาจดื้อถือหุ้นตัวที่ซื้อราคาสูงไว้ ทั้งที่ตลาดโดยรวมแย่ลง และได้แต่หวังว่าราคาจะกลับขึ้น แน่นอนว่าการขายอาจเจ็บใจปนความเสียดาย แต่การนำเงินไปหาตัวใหม่ที่จะสร้างกำไรให้เรามากกว่า ถือว่าคุ้มกว่าเยอะ!
แล้วไอ้ความรู้สึกใจแป้วนี่จะจัดการมันยังไง?
จะให้พูดว่าการ Cut Loss เป็นเรื่องสบาย ๆ ไม่ทุกข์ใจก็คงจะเกินจริงไปหน่อย ทุกคนต้องเคยผ่านความเศร้าเมื่อขายขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติมาก แค่คิดซะว่าเหมือนหลังเลิกกับแฟนเก่า เราก็หาคนใหม่ได้เสมอ
ในตลาดหุ้นก็เช่นกัน แค่ทำใจสักพัก มองหาหุ้นที่ใช่กับเราจริง ๆ อนาคตอันสดใสก็อยู่ไม่ไกลแล้ว
การ Cut Loss เป็นส่วนสำคัญของวินัยในการลงทุน ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนสร้างได้ด้วยการยอมรับข้อผิดพลาด ปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ใครทำใจเรื่องแบบนี้ไว้ได้ การเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม