อย่าเพิ่งกังวลไป การเป็นคนใจง่ายหรือโดนหลอกลวงง่าย จนนำไปสู่ประสบการณ์ที่ไม่อยากจดจำ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นคนโง่เขลา
ในทางกลับกัน หลายครั้งต้องขอบคุณความใจง่ายจนโดนหลอกด้วยซ้ำ เพราะคนเรามักแกร่งขึ้นหากเรียนรู้โดยตรงจากประสบการณ์
– เห็นแท่งเขียว 8 เมตรบนกระดานเทรดแล้วรีบกระโดดเข้า
– ได้ยินข่าวมิสยูนิเวิร์สแล้วรีบกดหุ้นเข้าพอร์ท
– เพื่อนมาชวนลงทุนในกลุ่มกองทุนต่างชาติแล้วลงตาม สุดท้ายกอดคอน้ำตาตกคู่ เพราะกลุ่มหายไปเฉย
เราต่างล้วนต้องมีมุมอะไรแบบนี้กันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการรู้สึกใจง่ายเมื่อเจอพลังแท่งเทียนสีเขียวเด้งอัดหน้า รู้ทั้งรู้เจ้ามือเป็นคนลากกระตุ้นหลอกล่อความเม่าในตัว ปลุกความ FOMO ให้กลัวตกขบวน แต่สมองสั่งการช้า แพ้ความโลภเผลอกดซื้อไปแล้ว
แล้วสุดท้ายเป็นยังไง? ได้ชมวิวบนยอดดอยกันไปอีกนาน
บางครั้งความโลภหรือสิ่งเร้าที่ทำให้ใจง่ายก็มาในรูปแบบอื่น อย่างการได้ยินข่าวฮือฮาเช่นมีบริษัทในไทยซื้อรายการมิสยูนิเวิร์สทำให้หุ้นของบริษัทพุ่ง ความรู้สึกมั่นใจเกิดขึ้นทันที เชื่อมั่นเหลือเกินจนต้องรีบกดหุ้นเข้าพอร์ท พอราคาปรับตัวลงมาเท่านั้นแหละ ถึงกับนอนก่ายหน้าผาก
รูปแบบสุดท้ายซึ่งมีพลังทำลายล้างค่อนข้างสูงเต็มสิบไม่มีหัก ถึงกับฉีกความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือแม้กระทั่งครอบครัวมาแล้ว คือการมีคนใดคนหนึ่งไปพบเจอกลุ่มหัสจรรย์ สัญญาต่าง ๆ นานา ว่าจะได้รีเทิร์นสูง และมีโบนัสให้หากชวนคนรู้จักมาลง ได้ยินดังนั้นจึงรีบชักชวนให้เพื่อนพี่น้องมาลงตาม วันดีคืนดีกลุ่มหายไปกับสายลม ทิ้งไว้แต่ความงงและน้ำตาคลอเบ้า (รวมถึงคนที่ไปชวนด้วย)
ดร.สตีเฟน กรีนสแปน (Dr. Stephen Greenspan) หนึ่งในนักจิตวิทยาระดับ “ด็อกตอร์” ก็เคยเป็นหนึ่งในเหยื่อแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เรียกว่า”บอร์นาร์ด เมดอฟฟ์” (Bernard Madoff) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดแห่งตลาดหุ้นแนสแด็ก (Nasdaq)
ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ ดร.กรีนสแปน สนใจเกี่ยวกับ “Gullability” หรือ “ความโดนหลอกง่าย” โดยสิ่งแรกที่เขาได้กล่าวไว้คือการศึกษาที่สูงก็ยังมีความ gullible ได้
ดร.กรีนสแปน ได้อธิบายให้เห็นภาพ ว่าแก่นของ Gullability investor หรือที่ใช้ในโพสต์นี้ว่า “นักลงทุนผู้ใจง่าย” มีด้วยกันทั้งหมด 4 ปัจจัยหลัก
1. Situation (สถานการณ์):
สถานการณ์สามารถแบ่งออกมาได้เป็นสองมุม มุมจากภายนอก เช่น โดนเพื่อนกดดัน กับมุมจากภายใน อย่างการรู้สึกว่าสภาพการเงินนั้นไม่ดี ต้องหาวิธีแก้
2. Cognition (การรู้คิด):
การที่ตัดสินใจอะไรสักอย่าง โดยไม่ได้ใช้ “ความรู้จักคิด” (intelligence) ไตร่ตรองให้ดี หรือการขาดความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะลงทุน
3. Personality (นิสัย) :
การเชื่อใจในคน “มากเกินไป” รวมกับนิสัยที่อาจชอบความเสี่ยงและมีความหุนหันพลันแล่นเวลาตัดสินใจ
4. State / Emotional (สภาวะทางอารมณ์):
ความรู้สึกที่มีในใจ โดยหลัก ๆ คือรู้สึกว่าจะต้องปกป้องความมั่งคั่งของตนและกลัวว่าจะเสียเงินนั้นไป นอกจากนี้ยังมีความต้องการความมั่งคั่งอย่างแรงกล้า ที่เรียกได้ว่าอาจจะถึงขั้นหมกมุ่นจนโดนครอบงำจิตใจ เป็นเป้าหมายหลักในการลงทุน
ดร.กรีนสแปนยกตัวอย่างในกรณีของเขาไว้แบบนี้
Situation: ใคร ๆ เขาก็ทำเงิน
Cognition: ไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการเงิน
Personality: มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเชื่อใจคนได้ง่าย
Emotion: อารมณ์ตอนนั้นคือรู้สึกว่าดีลที่ได้เห็นนั้นเย้ายวนเกินที่จะปล่อยไป
“เจ็บแล้วจำคือคน” เมื่อเรียนรู้จากประสบการณย่อมไม่ควรที่จะทำผิดอีกซ้ำซาก ยิ่งถ้ารู้แล้วว่าองค์ประกอบของการเป็น “นักลงทุนผู้ใจง่าย” นั้นมีอะไรบ้าง ก็น่าจะพอเป็นกระจกช่วยสะท้อนใหเห็นถึงข้อเสียของตัวเอง ที่สามารถนำไปปรับปรุงหรือรู้ทันใจของตัวเองให้ไวขึ้น และทำสำคัญที่สุด เข้าใจตัวเองมากกว่าเดิม