‘ซูเปอร์วูแมน’ แห่งวงการแฟชั่นในประเทศไทย
บอกเลยว่าช่วงนี้ จะเดินไปที่ไหนก็จะเห็นแต่กระเป๋าผ้าพร้อมอักษรตัวใหญ่ GENTLEWOMAN ต้องขอออกตัวก่อนว่าก่อนหน้านี้เห็นบ่อยมาก แต่ไม่รู้เลยว่าเป็นแบรนด์คนไทย
ก่อนได้มาสัมภาษณ์พี่แพงในวันนี้ แอบทำการบ้านมาประมาณนึง ก็รู้สึกชื่นชมมากเลยว่าพี่สาวคนนี้เป็นซูเปอร์วูแมนสุด ๆ ปั้นมาขนาดนี้ตั้งแต่วัยยี่สิบต้น ๆ เริ่มทำเองอะไรเองคนเดียวหมดเลย แถมไม่ได้มาสายอาร์ทหรือดีไซน์อีก น่านับถือมาก และทุกอย่างล้วนเกิดจากความชื่นชอบการแต่งตัว ประกอบกับการทำงานที่สุดจะรอบคอบ (พี่แพงใช้คำว่า conservative)
ตลาดแฟชั่นเป็นเป็นตลาดที่ใหญ่และเร็วมาก มีหลายคนสนใจที่จะกระโดดเข้ามาทำธุรกิจหรืองานอดิเรกในสายนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำกันเยอะมาก ดังนั้นเชื่อว่าคอลัมน์ แกะ Stories ฉบับบทสัมภาษณ์นี้ จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในวงการแฟชั่น หรือถึงแม้จะไม่ได้มาสายนี้ ก็นำไปใช้ได้แน่นอน
เคล็ดลับต่าง ๆ ที่พี่แพงได้บอกไว้ สามารถนำไปปรับใช้ในการรันธุรกิจให้เติบโตและที่สำคัญ ยังมี ‘คลาส’ อีกด้วย!
แนะนำตัวยังไงก็ได้ ให้รู้จักพี่แพงมากขึ้น
ขอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘แม่ค้าที่จบบัญชี’ ละกัน
ช่วยขยายความหน่อยได้มั้ย ทำไมเรียกตัวเองแบบนั้น
ส่วนใหญ่คนที่ทำเสื้อผ้า แบรนด์แฟชั่น เขาจะเป็นดีไซเนอร์ แต่ของเราเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ไม่ได้มาจากดีไซเนอร์ เราเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ owner & co-founder ทั้งสามคนจบบัญชีหมดเลย
คิดยังไงเลือกเรียนบัญชี แต่มาสร้างแบรนด์เฉย
จบบัญชีจุฬา แล้วก็ทำงานสายบัญชีอยู่สองปีเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี แล้วพอเริ่มทำงานประจำสักพักก็รู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ไม่อยากทำไปเรื่อย ๆ เลยลองขายเสื้อผ้าออนไลน์เอง ควบคู่กับการทำบัญชีไปด้วย แล้วพอทำไปสักปีนึง เมื่ออยู่ตัวก็ออกมาทำของตัวเอง
ก่อนเข้ามาเรียนบัญชีไม่ได้มีความคิดเปิดแบรนด์เสื้อผ้าใช่มั้ย
ไม่มีเลย สมัยนั้นไม่ได้คิดว่าโตขึ้นจะทำอะไร เรียนคำนวณ ก็เหมือนตามเส้นทางไปเรื่อย เลยมาจบที่เรียนบัญชีจุฬา
เคยได้ยินบ่อย ๆ จะ success ต้องมีแพสชั่น คิดว่าแพสชั่นสำคัญรึเปล่า
อันนี้เห็นด้วย พี่ว่าพี่ก็มี แต่แพสชั่นของพี่อาจไม่ใช่ฝั่งของอาร์ต น่าจะเป็นความชอบการแต่งตัวมากกว่า
นิยามแพสชั่นของพี่แพงให้ฟังหน่อย
แพสชั่นเป็นสิ่งที่อยู่กับมันไปได้เรื่อย ๆ ทุกวัน ในทุกช่วงจังหวะของชีวิตด้วยนะ เพราะไม่ได้ทำงาน 9 โมงถึง 5 แล้วหยุดพัก
งาน ชีวิตส่วนตัว ทุกอย่างผสมผสานกันไปหมด ถ้ามีแพสชั่นจะใช้ชีวิตได้แบบมี work-life harmony ไปเรื่อย ๆ เราจะไม่เบื่อง่าย พอเครียดก็ไม่เบื่อสิ่งที่ทำอยู่ แต่ก็ไม่รู้นะ ไม่รู้ว่าตอบเพราะเป็นธุรกิจของตัวเองหรือเปล่า เพราะไม่มีช้อยส์ว่าเบื่อหรือเปล่า (หัวเราะ)
ผิดไหมถ้าคิดจะเปิดร้านของตัวเอง แต่คิดน้อยเรื่องบริหารเงิน
พี่ว่าไม่ผิดเลย ต้องดูว่าเป้าหมายเราเป็นยังไง ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อพี่เริ่มธุรกิจของตัวเองครั้งแรก ตอนนั้นพี่เริ่ม 23 หรือ 24 ปี ตอนนั้นที่เริ่มไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้น มีเงินทุนก้อนหนึ่ง อยากขายของ จัดสรรผลิตยังไง ตอนนั้นไม่มีหน้าร้าน Fixed cost ก็แทบไม่มี ค่อนข้างบริหารได้พอตัว ขึ้นอยู่กับสเกลที่เรามองเป็นยังไง พอมา GENTLEWOMAN ก็ไม่ได้เป็นธุรกิจแรก มาวันนี้ก็คิดคนละแบบแล้ว
ขอเจาะต่ออีกนิด ในช่วงแรก ๆ มีเงินก้อนหนึ่ง จัดแจงยังไง
ไม่ได้คิดเยอะขนาดนั้น ตอนเริ่มเพราะความชอบ อยากลอง ไม่ได้แบ่งชัดเจนว่า เงินส่วนตัว เงินธุรกิจ ก็มั่ว ๆ ปน ๆ กันไป แต่พอมาเป็นธุรกิจจริงจัง มีหุ้นส่วน ทำแบบนั้นไม่ได้
สำหรับการเริ่ม พี่ว่าต้องดูว่า เรามองใหญ่แค่ไหน มองเป้าหมายสิ่งที่อยากเป็นยังไง ทำคนเดียวหรือทำกับหุ้นส่วน ทำกับหุ้นส่วน ก็ต้องคุยกัน สัดส่วนเป็นยังไง ถ้าเริ่มต้นของการทำธุรกิจเลย ต้องทำ Feasibility เงินทุนเท่านี้ แหล่งของเงินทุนมาจากไหน ค่าใช้จ่ายที่ออกไปมีอะไรบ้าง หลัก ๆ ที่ต้องจ่าย ก้อนไหนที่ออกไป จะได้หมุนได้
งั้นการเริ่มธุรกิจต้องเข้าใจ feasibility ก่อน
ใช่ แนะนำให้ทำบัญชี เพราะคนส่วนใหญ่จะชอบหนีพาร์ทนี้ เพราะดูจะเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบ พอพูดถึงคนจะแบบ ไม่อยากทำ แต่มันหนีไม่พ้นเท่าไหร่
ถ้าย้อนกลับไปสอนตัวเองในอดีต จะสอนอะไรบ้าง
คงให้วางแพลน เพราะส่วนใหญ่คนที่เริ่มธุรกิจตอนแรก ๆ อายุไม่เยอะ ไม่มีประสบการณ์มาก จะไม่ค่อยแพลน อาจจะแพลนระยะสั้นมาก ๆ แต่ความเป็นจริง ทำธุรกิจให้เวิร์คมองระยะสั้นอย่างเดียวไม่ได้ อีกอย่าง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
พี่รู้สึกว่าความต่อเนื่อง เป็นหนึ่งคีย์ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ จะทำยังไงให้ต่อเนื่อง อันนี้ก็ยากเหมือนกัน อาจจะแพลนหน่อย
สมมุติจะทำแบรนด์เสื้อผ้า รู้ว่าเราจะปล่อยของความถี่ขนาดไหน ทุกเดือนไปเรื่อย ๆ แล้วพอมีแพลน พอมันเจออะไรที่ผิดไปจากแพลน จะได้ตบตัวเองกลับมาทัน พอไม่มีแพลนปุ๊บ สมมุติว่า ช่างเท ช่างออก ไม่รู้จะทำยังไงต่อ ก็หยุดไปเลย ก็จะเป็นสิ่งที่หลายคนไปต่อไม่ได้
เคยมีความคิดอยากรวยเร็วมั้ย
พี่ว่าไม่มีนะ เพราะพี่เป็นเด็กบัญชี ค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟนิดนึง เหมือนกันทั้งครอบครัว เราไม่ได้ทำอะไรหวือหวามาก่อน มาทำหุ้นส่วนก็เป็นบัญชีด้วยกันก็คอนเซอร์เวทีฟกันหมดเลย
อันที่จริง ถ้ามีอาจจะรวยกว่านี้ไปเยอะแล้ว (หัวเราะ) ขอขยายนะ จะกลับไปที่กลยุทธ์ของธุรกิจนิดนึง เราตั้งใจว่าทุกคอลเลคชั่นที่เราออกของ GENTLEWOMAN เราจะไม่ทำซ้ำ ถ้าหมดแล้วหมดเลย ไม่ว่าจะขายดี แย่งชิงกันหมดยังไงก็ตาม แต่เราจะไม่ทำเพิ่ม เป็นสิ่งที่เราทำตั้งแต่แรก
ถ้าพวกพี่คิดว่า ขายดี รับพรีออเดอร์ทำเพิ่มเยอะ ๆ ยอดขายอาจเพิ่มหลายเท่า แต่เราเลือกที่จะไม่ทำ เพราะยังคงยึดในแพลนของเรา
รวย กับ มั่งคั่ง แตกต่างกันมั้ย
รวยอาจจะดูฉาบฉวยกว่า มั่งคั่งมันดูดีพ
รู้สึกว่าตัวเองมีความมั่งคั่งรึเปล่า
พี่ก็ค่อนข้างแฮปปี้กับอะไรที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้บอกว่ารวยไหม หรืออะไร เลเวลในการที่จะตัดสินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทุกวันนี้เราทำงาน แฮปปี้มีความสุขที่จะมาออฟฟิศทุกวัน พี่มีลูกสาวสามขวบ ก็แฮปปี้กับการเลี้ยงลูกไปด้วย ทำงานไปด้วย ณ จุดนี้ ถ้ามันเติมเต็มกับงาน กับทั้งครอบครัว ทั้งความสัมพันธ์ ก็โอเคนะ
อะไรที่หล่อหลอมให้เป็นซูเปอร์วูแมนได้ขนาดนี้
ในสมัยก่อน ดูผลเอ็นยังต้องต่อเน็ตลุ้นอยู่เลย ต้องไปอัพบุ๊คแบงค์ทีละรายการ ตอนเงินเข้าต้องไปอัพทุกวัน ไม่สามารถเช็คออนไลน์ได้แบบวันนี้ รู้สึกแก่เลยเนี่ย เป็นคนจากอีกยุคหนึ่งยังไงก็ไม่รู้!
ทั้งหมด มันก็สอนให้เราอดทนกับการค่อยเป็นค่อยไป พอมายุคนี้ ตัวช่วยเยอะ ได้อะไรมาง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก ของพี่ตอนเริ่มธุรกิจแรก ยังไม่มี IG เลย ยังตอบเมล มันก็สอนอะไรหลายอย่าง ออกบูธขนเองทุกอย่าง ไม่ได้มีแอปฯเรียกรถ ก็เป็นผู้หญิงตัวเท่านี้ ทำเอง ขนหุ่น สต็อคเสื้อผ้า ซื้อรถเข็น ตั้งแต่ศูนย์ ตัวคนเดียว ก็สอนเราเหมือนกัน
ถ้าเราได้มันง่ายกว่านี้ เราอาจจะตัดสินใจไม่เหมือนกับที่เราทำอยู่ทุกวันนี้
คิดว่าอารมณ์ส่งผลต่อความรอบคอบในการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน
คิดว่ามีอยู่แล้ว ถ้าเราเป็นผู้หญิง งานที่เราทำเป็นเรื่องของแฟชั่น สุดท้ายมันจะมีเรื่องความชอบ ไม่ชอบ แบบนี้ทำหรือไม่ทำ เราชอบเราใส่ไหม สีนี้เราชอบไหม แต่พอมันไม่ใช่ของเราคนเดียว ไม่ใช่ธุรกิจที่เราทำคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว ทุกอย่างควรมาจากข้อมูล ดูข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพราะข้อมูลมันคือเป็น Fact
อุปสรรคที่หนักสุดตั้งแต่รันธุรกิจมา
คงต้องย้อนกลับไปตอนโควิด ตอนนั้นร้านน่าจะสิบสาขา ปิดหมด เราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ไม่คิดถึงเงินสำรองของบริษัทที่จะต้องมีขนาดนั้นเลย ก็รันด้วยอะไรที่ขายได้ พอขายได้ก็หมุนต่อ เพราะพวกพี่ใช้ทุนของตัวเองหมดเลยไม่ได้มีกู้ แต่พอเจอโควิด เราต้องหยุดคิดเรื่องนี้ เรื่องทุนสำรอง จำเป็นมากนะ เราต้องมี เราไม่รู้เลยว่าหน้าร้านจะปิดไปถึงเมื่อไหร่ เราต้องแบกต้นทุน ที่มันยังรันอยู่ถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
คำนวณทุนสำรองยังไง
หลัก ๆ ก็ดูว่า Fixed cost ที่ต้องคอฟเวอร์ต่อเดือน แต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน บางคนไม่มีหน้าร้านก็จะน้อย ไม่ได้จ้างช่างประจำก็จะไม่มี แต่ถ้ามีก็เอา Fixed cost มาคำนวณคร่าว ๆ ธุรกิจทั่วไปที่แนะนำก็สักหกเดือน
บางคนไม่คิดเรื่องเงินจม คิดว่าเดี๋ยวก็ขายได้ มีความเห็นยังไง
ต้องถามก่อนว่า เดี๋ยวจะขายได้ แล้วจะขายยังไง? นึกออกไหม ถ้าคิดแล้ว มีช่องทางขาย แบบนั้นแบบนี้ อันนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าทำไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ค่อยแนะนำ เงินจมไม่ดีหรอก ทุกวันนี้พวกพี่เลยบริหารสต็อคกันแบบละเอียดมาก เพราะเราจะไม่ยอมให้สต็อคจม เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเราไม่ผลิตอะไรมาเยอะ ๆ
Mindset แบบไหนถึงจะ success ได้ในวงการแฟชั่น
ต้องเป็นคนที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงเพราะเปลี่ยนเร็วมาก แวดวงแฟชั่น อาร์ตอะไรต่าง ๆ เพราะคนมันเข้าถึงการเสพสื่อทั่วโลก เพราะคนไปเห็นฝั่งอเมริกา ยุโรปแล้วชอบ ถ้าเราทำอะไรที่ทำอยู่ว่าดีแล้ว จะทำมันไปเรื่อย ๆ ไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่พร้อมจะเปลี่ยน ก็จะอยู่ยาก
ก่อนขอตัวไปเดินช็อปปิ้ง พี่แพงมีอะไรที่อยากฝากคนรุ่นใหม่ที่สนใจเปิดแบรนด์เสื้อผ้าบ้าง
ลองหาข้อมูลก่อน เราชอบอะไร อยากทำอะไร มีเป้าหมายยังไง เพราะว่าภาพที่แต่ละคนมองไม่เหมือนกัน บางคนอยากเล่นใหญ่ หรืออยากลองก่อน ถ้าเจอแล้วว่าอยากลองทำให้ลองเลย เพราะทุกวันนี้มันเร็วมาก ไม่ลองตอนนี้ เราอาจไม่อยากทำแล้ว โลกอาจไม่ได้เปิดรับอันนี้แล้ว คนอาจเปลี่ยนไปชอบอย่างอื่น ยุคนี้น่าจะต้องเร็ว