ภาคเศรษฐกิจใหม่หรือ “New economy” ที่ขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ที่กำลังมาถึง หากแต่เป็นเทรนด์ที่มาถึงแล้ว และกำลัง “In effect” (ส่งผล) ในทุก ๆ ช่วงขณะที่เราทุกคนดำเนินชีวิต
ดังนั้นคงเป็นเรื่องแปลกดี ถ้าเกิด new economy มาเยือน แต่พวกเราทุกคนกลับเลือกที่จะเพิกเฉย ไม่ยอมอัพเดต “Mindset” ให้เพรียบพร้อม ลองคิดสภาพใช้คอมรุ่นวินโดวส์ 95 กับ ram ไม่กี่ gigabyte เพื่อทำงานกราฟฟิกสมัยนี้ดู คงไม่ต้องอธิบายให้มากความกันเลย
เชื่อว่าทุกคนได้ยินคำว่า Mindset บ่อยครั้ง แต่พอถามทีไร ก็ยังแอบดูงง ๆ ว่าสรุปมันหมายความว่าอะไรกันแน่? จึงอยากเสนอความหมายของคำว่า Mindset จะได้เข้าใจตรงกัน ซึ่งศาสตราจารย์ “Douglas A. Ready” จากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก Massachusetts Institute of Technology (MIT) สาขาภาคธุรกิจและบริหาร MIT Sloan School of Management ได้อธิบายไว้ว่า Mindset เปรียบดังแผนที่ในจิตใจ (Mental Map) ที่ “สะท้อน” และ “ชี้แนะ” ว่าคนประพฤติตัวเองอย่างไร นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณว่าคน “ทำงาน” และ “บ่งบอกถึงตัวเขา” อย่างไรอีกด้วย
การเปิดรับ Mindset และพฤติกรรมใหม่ ๆ สำคัญต่อการขับเคลื่อน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ Douglas ได้คุยและสอนระดับผู้จัดการกับผู้นำมาแล้วนับไม่ถ้วนทั่วโลก ทั้งยังได้ทำแบบสอบถามผู้จัดการกว่า 4,000 คน ไล่ไปจนระดับ executives และ C-level มากกว่า 120 ประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าการเป็น “ผู้นำที่ยอดเยี่ยม” (great leader) บน “โลกที่เปลี่ยนแปลง” และ “โลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลง” คืออะไร
ศาสตราจารย์กล่าวว่า มีคำตอบที่โดดเด่นออกมาอย่างชัดเจนหลังจากได้ทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์มามากมายคือ เกือบ 88% เชื่อว่าผู้นำของพวกเขาไม่มี Mindset ที่เพียบพร้อม ในเชิงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนำพาพวกเขาเข้าสู่ new economy ได้
แต่ในเวลาเดียวกัน แทบทุกคนเน้นย้ำความสำคัญอย่างมากที่จะต้องเปิดรับ Mindset และ พฤติกรรมใหม่ ๆ รวมถึง “วิถีทาง” ที่จะตอกย้ำความสำคัญในการใช้ Mindset และ พฤติกรรมแบบใหม่ว่าเป็น “ที่สุด” ของการเป็นผู้นำแห่งยุค new economy
4 Mindset ที่ผู้นำยุค new economy ต้องมี
หลังจากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลออกมาแล้ว ศาสตราจารย์ Douglas จึงอธิบายว่ามี Mindset อยู่ทั้งหมด 4 รูปแบบที่สำคัญมากในการขับเคลื่อน new economy ได้แก่:
▸ Producer (นักผลิต)
Mindset ของ Producer หมายถึงผู้ที่หลงใหลในการผลิต “Customer value” หรือ “คุณค่าที่ลูกค้าได้รับ” และยังโฟกัสไปที่ การวิเคราะห์, ความชาญฉลาดทางด้านดิจิทัล, การดำเนินการ และ ผลลัพธ์ ยกตัวอย่างเช่น นักผลิตจะใช้การวิเคราะห์เพื่อเร่งให้เกิดนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงทางด้านความชอบของลูกค้า และมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้น
▸ Investors (นักลงทุน)
ผู้นำที่มี Mindset ของนักลงทุนไล่ตามเป้าหมายระดับองค์กร ที่มากกว่าแค่การสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น (Return to Shareholder) พวกเขาอุทิศตัวเองให้กับการเติบโตในรูปแบบที่ยั่งยืน ใส่ใจคอมมูนิตี้ที่อยู่รอบตัว พร้อมสวัสดิภาพและการพัฒนาที่ดีของพนักงาน และที่สำคัญที่สุด พวกเขาไม่ได้มองลูกค้าเป็นเพียง “ท่อเลี้ยงรายได้” แต่ต้องลงทุนที่จะเสริมสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า
▸ Connectors (นักเชื่อมต่อ)
ผู้นำที่มี Mindset ของนักเชื่อมต่อ จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าต้องมีทักษะที่เก่งกาจในการเชื่อมความสัมพันธ์และเน็ตเวิร์ก เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรเดินไปสู่ new economy อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาจะคอยนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภายในและรอบตัวที่เกี่ยวข้องมารวมกัน มากไปกว่านั้น ยังเข้าใจถึง “พลัง” ของการสร้างความรู้สึกที่ป็นคอมมิวนิตี้และการอยู่ร่วม เพราะในยุคนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและขยับไว มันเป็นเรื่องง่ายที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะลดทอนลง
▸ Explorers (นักสำรวจ)
ผู้นำที่มี Mindset ของนักสำรวจ มักมีความอยากรู้และความสร้างสรรค์ ทั้งยังทำงานได้ดีบนความไม่แน่นอนหรือคลุมเครือ พวกเขาจะคอยทดลองอยู่เสมอ และเรียนรู้จากการฟังหลาย ๆ เสียง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เห็นว่ามี Mindset แห่งนักสำรวจที่ชัดเจนที่สุดคือ การสร้างบรรทัดฐานที่ทั้ง “ทน” และหลายครั้ง “ผลักดัน” ในการที่จะลองเสี่ยง รวมไปถึงการล้มเหลว รวมถึงให้พนักงานที่เป็นจูเนียร์ได้มาเป็นฝ่ายสอนตัวเอง (reverse mentoring) และท้ายสุด ความอยากรู้อย่างลึกซึ้ง ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลักดันสภาพแวดล้อมแห่งการแข่งขัน
สุดท้ายศาสตราจารย์ Douglas กล่าวปิดอย่างสั้น ๆ ว่า ผู้นำที่มีคุณลักษณะของ Mindset เหล่านี้ บ่งบอกว่าต้องการสะท้อนถึงภาวะของผู้นำที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาไม่ได้มีภาพพจน์ว่าผู้นำจะต้องดูเหมือน “ฮีโร่” เสมอไป แต่เป็น “ผู้สร้างคอมมิวนิตี้” แห่ง “ผู้นำที่ดี” ในที่ทุกระดับชั้นขององค์กร และการทำเช่นนี้ ก็เพื่อย้ำว่าการเป็น “ผู้นำร่วมกัน” คือวิธีที่แข็งแรงที่สุด ในการฟันฝ่าอุปสรรคบนโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว