ขอนิยามคำถามนี้ว่าเป็นคำถามโลกแตก เพราะเชื่อว่าทุก ๆ ปีเป็นคำถามที่มักจะเป็นหัวข้อพูดคุยในวงเพื่อนฝูงหรืออย่างน้อย ๆ ก็วนเวียนอยู่ในความคิดของหลายคนเกือบทุกครั้งที่โบนัสออก
ที่จริงแล้วหากตอบคำถามนี้ช่วงก่อน covid19 ระบาด ก็น่าจะตอบแบบตรงไปตรงมาได้ แต่ด้วยความที่คำถามนี้ตอบในช่วง post-covid19 (หลัง covid ระบาด) จึงเพิ่มความซับซ้อนของคำตอบขึ้นมาอีกนิด เพราะก่อนจะเข้าประเด็น เราต้องคำนึงถึงเทรนด์ที่เรียกว่า “ซื้อแบบล้างแค้น” หรือ Revenge Spending กันก่อน
จริง ๆ การซื้อแบบล้างแค้นมีมาก่อน covid19 ระบาดตั้งนานแล้ว เพราะคำว่า Revenge spending เป็นเพียงคำที่เอาไว้ใช้อธิบายการกระทำของการนำเงินมาปรนเปรอเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น โดยมีจุดผลักดันจากความเครียดหรือความรู้สึกท่วมท้นอะไรบางอย่างในใจ(จึงต้องปลดปล่อยออกมา)
และใช้เป็นที่พึ่งพาเพื่อให้รู้สึกว่าเรายังสามารถ “ควบคุม” ชีวิตได้ หรือไม่ก็เป็นการ “ล้างแค้น” อะไรบางอย่างจริง ๆ
การซื้อแบบล้างแค้นสามารถกลายมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การซื้อของ อาจจะเป็นการซื้อของที่แพง ซื้อของในจำนวนเยอะหรือถี่ ออกไปกินมื้อค่ำที่ปกติไม่ได้อยู่ในราคาที่จ่ายประจำ หรือการไปพักผ่อนด้วยราคาทริปที่แพงกว่าครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ post-covid19?
ก็เพราะว่าการซื้อแบบล้างแค้นเป็นเทรนด์ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งผู้คนต่างหาวิธีรับมือกับความเครียดหรือวิตกกังวลที่ตนได้รับจากการระบาดครั้งนี้
โดยเฉพาะสภาพของการเงินที่น่าจะโดนเล่นงานอย่างหนักหน่วง จนทำให้รู้สึกว่าเราไม่สามารถควบคุมชีวิตได้ดังใจหวัง— ซึ่งพอการเงินมีปัญหาจนเครียด แต่กลับซื้อแบบล้างแค้น เป็นการก่อหนี้เพิ่มแน่นอน— หรือไม่ก็เพราะไม่คุ้นชินกับโหมดจำศีลที่จำใจต้องอยู่เพราะล็อกดาวน์ เลยพอเปิดประเทศก็ต้อง “ขอทีเถอะ อัดอั้นตั้งนาน!”
เมื่อภาพตรงนี้ฉายออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน จึงจะเจาะเข้าประเด็นของคำถามโลกแตกได้ เพราะอย่างแรกเลยต้องถามตัวเองก่อนว่า ตอนนี้ตกอยู่ในสภาวะที่กล่าวไปอยู่หรือไม่?
ถ้า “รู้ตัว” ว่าคลับคล้ายคลับคลาอยู่ในสภาวะคันมือจัด ๆ อยาก spend โบนัสชั้นอะใครจะทำไม? ก็อยากใช้เงินทดแทนเวลาที่ขาดหายไปนี่ โดยไม่คำนึงถึงตัวเลือกอื่น ๆ เลย หรือมีเข้ามาในหัวแต่เป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ ที่ไม่มีน้ำหนักอะไร ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะตกอยู่ในสภาวะที่เหมาะแก่การนำเงินโบนัสไปใช้ในเชิงซื้อเพื่อล้างแค้น
ดังนั้นก่อนจะพูดถึงการบริหารโบนัสอย่างไรให้ไม่สูญเปล่า แต่มีประโยชน์ในมุมของการเงินและการลงทุน ต้องเข้าใจถึงผลเสียของการใช้จ่ายโบนัสในรูปแบบนี้เสียก่อน ซึ่งก็คือนอกจากจะย้อนกลับมาเพิ่มแรงกดดันให้กับสุขภาพของการเงินที่อาจมีปัญหาอยู่แล้ว ยังทำให้รู้สึกผิดหรือเสียใจภายหลังได้
และอารมณ์แบบนี้มีเพียงแต่จะเติมเชื้อเพลิงให้กับไฟด้านลบที่เป็นตัวต้นตอของการซื้อเพื่อล้างแค้น และสุดท้ายอาจนำไปสู่พฤติกรรมความเคยชินของการใช้จ่ายและความรู้สึกผิด ที่วนซ้ำไปซ้ำมาเป็นวงจร
อีกปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน เพราะสำหรับบางคนคงรู้ใจตัวเองดีอยู่แล้วว่าเป็นคนแบบไหน จะใช้ก้อนนี้ไปเพื่ออะไร เช่น ใช้เงินเพื่อซื้อของแพง ๆ หรือไปเที่ยวทริปหรู เพราะมันเป็นการปลดปล่อยเพื่อให้ตัวเอง productive มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างราบรื่นพร้อมแรงใจที่แข็งแรง ถ้าเป้าหมายชัดแบบนี้ และรู้ตัวว่าจะสร้างผลที่มีประโยชน์ในมุมของ productivity ก็ไม่เกี่ยวกับการซื้อเพื่อล้างแค้น
ตรงนี้มีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ ซึ่งตัวแปรนั้นคือเป้าหมายที่ชัดเจนหรือเป็นเพียงการตอบสนองตามอารมณ์ ดังนั้นการจะบริหารเงินโบนัส (หรือบริหารอะไรก็ตามเพื่อให้มีประสิทธิภาพ) ต้องแยกเรื่องอารมณ์และความรู้สึกออกมา พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
เมื่อเป้าหมายชัด ถึงจะสามารถวางแผนที่ดีได้ ซึ่งการจะใช้โบนัสให้มีประโยชน์ในเชิงการเงินและการลงทุน จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ได้แก่
– จ่ายหนี้คงค้าง (บัตรเครดิต ผ่อนชำระสิ่งต่าง ๆ คืนเงินเพื่อน)
– สร้างกองเงินฉุกเฉินให้กับชีวิตของตัวเอง (ยามเจ็บป่วย ตกงาน)
– ลงทุนกับอนาคตของตัวเอง สร้างความมั่งคั่ง (หุ้น อสังหา สินทรัยพ์ดิจิทัล หนังสือหรือคอร์สที่ช่วยเพิ่มความรู้หรือทักษะ)
หรือจะจัดสรรปันส่วนแบ่งใช้เงินโบนัสก็ไม่ผิดอะไร เช่น จ่ายหนี้ 50% เข้ากองทุนฉุกเฉิน 20% ลงทุนกับอนาคตตัวเอง 20% ปรนเปรอตามใจฉัน 10%
แน่นอนว่าก็ขึ้นกับจำนวนของโบนัสที่ได้ ก็พิจารณาเป็นเคส ๆ กันไป
สรุปได้ว่า ก่อนจะทำความเข้าใจว่าสามารถบริหารเงินโบนัสไปทำอะไรได้บ้าง จะต้องเข้าใจถึงสภาวะอารมณ์ของตัวเองก่อน และแยกออกมาพร้อมตั้งเป้าหมายให้ชัด
เมื่อนั้นถึงจะตอบได้ว่า ได้โบนัสมา… เอาไปทำอะไรดี?