แวดวงธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 หรือเป็นช่วงที่มี “Digital Revolution” (การปฏิวัติดิจิทัล) บริษัทต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเพื่อให้ทันกับนวัตกรรมที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และในขณะนี้ก็ต้องเผชิญกับ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง
มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังปรับเปลี่ยนโมเดลการดำเนินธุรกิจ และทำให้สิ่งต่าง ๆ มีความซับซ้อนละเมียดละไมมากยิ่งขึ้น
เช่นนั้นแล้ว สภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนนี้ มีกลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า “Radical Optionality” กำลังเกิดขึ้น ซึ่งได้เสนอวิธีให้บริษัทสามารถเติบโตท่ามกลางความไม่แน่นอน และเปลี่ยนมันเป็นข้อได้เปรียบ
กลยุทธ์ใหม่แห่งยุค ที่จะนำธุรกิจฝ่ามรสุม
Radical Optionality ท้าทายกลยุทธ์แบบดั้งเดิม และขอให้บรรดานักธุรกิจทบทวนวิธีการดำเนินการแบบใหม่ ซึ่งนี่คือแนวคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์ใหม่นี้:
▸ ทำและคิดไปพร้อมกัน
แทนที่จะเป็นเพียงแค่การวางแผนและพูดคุยเกี่ยวกับไอเดีย บริษัทควรลงมือพร้อมลองทำไปด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือลดช่องว่างระหว่าง “การคิด” และ “การทำ”
กุญแจสำคัญอยู่ที่การเปิดใจเพื่อที่จะทำการทดลอง เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นจริง หากจำเป็นก็สามารถปรับในระหว่างดำเนินการ
บริษัทที่ส่งเสริมให้พนักงานดำเนินการและทดลองแนวคิดใหม่ ๆ ไปในตัว จะไม่ต้องเสียเวลามากมายเพื่อประชุมกับวางแผน พวกเขากลับมีอิสระในการทดสอบไอเดียอย่างรวดเร็วและเรียนรู้จากผลลัพธ์ในทันที
▸ โอบรับความยืดหยุ่น
แทนที่จะยึดติดกับแผนใดแผนนึง บริษัทควรเปิดรับทางเลือกต่าง ๆ พร้อมปรับตัวและเต็มใจที่จะเปลี่ยนกระบวนการที่วางไว้หากจำเป็น หากเปิดทางเลือกอยู่เสมอก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้
บริษัทที่มีความสามารถในการปรับตัวพร้อมกับยอมรับการเปลี่ยนแปลง มักจะมีหลายโครงการดำเนินการในเวลาเดียวกัน และสำรวจความเป็นไปได้ต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ แทนที่จะล้มเลิกไอเดียที่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามคาดในทันที พวกเขาเลือกที่จะให้เวลากับไอเดียเพื่อพัฒนาต่อไป และดูว่ามีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่
▸ มีความสมดุลระหว่าง “สำรวจสิ่งใหม่” และ “ใช้ประโยชน์กับสิ่งเดิม”
ตามบริบทดั้งเดิม บริษัทมักมุ่งเน้นไปที่การสำรวจสิ่งใหม่ ๆ หรือไม่ก็ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ แต่ Radical Optionality กำลังบอกว่า ให้ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกันอย่างสมดุล บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็สำรวจแนวคิดใหม่ ๆ และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ไม่ได้คาดไว้
บริษัทที่มีรากฐานแข็งแกร่งในธุรกิจหลัก แต่ก็ยังลงทุนที่จะสำรวจตลาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน พวกเขาพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่แล้ว พร้อมกับค้นคว้าและทดสอบไอเดียใหม่ ๆ ในเวลาเดียวกัน
▸ นำเสนอสิ่งต่าง ๆ ตามเฉพาะตัวบุคคล
แทนที่จะปฏิบัติทุกคนให้เหมือนกันหมดราวกับเกิดมาจากพิมพ์เดียวกัน บริษัทควรปรับแต่งผลิตภัณฑ์และการบริการให้ตรงกับความต้องการส่วนบุคคล ด้วยการทำความเข้าใจลูกค้าให้ดีขึ้น และคาดการณ์ถึงความต้องการของพวกเขา ด้วยวิธีนี้ บริษัทสามารถสร้างคุณค่าที่ไม่เหมือนใครให้กับลูกค้าได้
บริษัทที่เข้าใจลูกค้าและความต้องการเฉพาะเจาะจงของพวกเขาอย่างแท้จริง จะรวบรวมข้อมูลกับอินไซต์จากแหล่งต่าง ๆ และใช้ข้อมูลนั้นเพื่อปรับแต่งผลิตภัณฑ์และการบริการ วิธีการดำเนินงานตามเฉพาะตัวบุคคลนี้ จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและสร้างความภักดีได้อย่างยอดเยี่ยม
▸ ทำงานร่วมกันและสร้างระบบนิเวศ
แทนที่จะทำงานคนเดียว ควรร่วมมือกับผู้อื่นและสร้างเครือข่ายของความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ด้วยการผนึกกำลังกับบริษัทอื่น ๆ หรือบริษัทในเครือ ก็สามารถขยายการเข้าถึงและเพิ่มศักยภาพของความสามารถได้
บริษัทที่ร่วมมือกับพันธมิตร ซัพพลายเออร์ และแม้แต่คู่แข่งเพื่อสร้างเครือข่าย จะแบ่งปันทรัพยากรและความรู้ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันนี้ จะช่วยให้พวกเขาสามารถนำเสนอโซลูชันที่ครอบคลุมและเข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น
3 สิ่งที่บริษัทต้องพิจารณาหากจะใช้ Radical Optionality
หากธุรกิจต้องการที่จะปรับใช้ Radical Optionality ควรพิจารณาสิ่งต่อไปนี้:
▸ “Agile” ในทุกภาคส่วนของบริษัท
บริษัทต้องพยายามตีตัวออกห่างจากการวาง “ลำดับชั้น” (Organization hierachy) ที่เข้มงวด และใช้โครงสร้างที่ยืดหยุ่นมากขึ้น สิ่งนี้จะช่วยให้ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และคว้าโอกาสใหม่ ๆ ได้
ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความคล่องตัวและการให้อำนาจแก่พนักงานในการคิดอย่างสร้างสรรค์ บริษัทจะสามารถตอบสนองต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ประโยชน์จากตลาดใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
▸ ความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี
การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อทำให้งานประจำมีความอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อจะได้ส่งเสริมให้พนักงานมุ่งเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เช่น การใช้พลังของปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ ธุรกิจสามารถเพิ่มศักยภาพของมนุษย์และขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ล้ำหน้าได้
▸ ใช้ตัวชี้วัดแห่งอนาคต
แทนที่จะดูเฉพาะยอดขายและกำไรในปัจจุบัน บริษัทสามารถใช้ตัวชี้วัดแห่งอนาคตเพื่อประเมินศักยภาพในการเติบโตไปข้างหน้า ตัวชี้วัดเหล่านี้วัดว่าบริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ได้ดีเพียงใด และมีประสิทธิภาพเพียงใดในการบ่มเพาะนวัตกรรม ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ตัวชี้วัดเหล่านี้ บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าใจความสามารถของตนเพื่อประเมินความสำเร็จในระยะยาวได้ดีขึ้น และคงความสามารถในการแข่งขันในตลาด
การจะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนอาจต้องอาศัยแนวทางใหม่ เราจำเป็นต้องพัฒนาทางเลือกสำหรับอนาคต ในขณะที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับการเปลี่ยนแปลง การผสานความคิดและการกระทำ และการมีส่วนร่วมกับลูกค้า ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ดังนั้น Radical optionality จึงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในยุคดิจิทัลที่ผันผวนอย่างมาก