“ก็เห็นในรูปใช้ชีวิตหรูหรา มีรถสปอร์ตขับ มีกระเป๋าแบรนด์เนมใช้” มักจะเป็นคำบอกเล่า เวลาเข้าไปอ่านในบทความ ของผู้ที่โดนหลอกลงทุนแทบจะทุกครั้ง
ทางเราจึงคิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมาเปิดเผยมายากล ของนักสร้างภาพมายาเหล่านี้ ที่ชวนหลอกให้หลงลงทุน ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง
เราอยู่ในยุคที่ social media เป็นจุดศูนย์กลางของการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ จงอย่าลืมว่าอะไรที่เราเสพ เช่น รูปภาพหรือวิดีโอ ล้วนไม่ใช่เรื่องยากในการ “จัดฉาก”
ดังนั้นหนึ่งใน mind-set ที่ควรมีติดไว้ ก็คือ skepticism (วิมตินิยม) หรือภาษาแบบเข้าใจง่าย คือต้องมีความขี้สงสัย สงสัยต่อใด ๆ ที่เป็นความรู้ ความเชื่อ สมมุติฐาน อย่างในกรณีเวลาเจอรูปหรือวิดีโอชวนเชื่อ ชวนให้ลงทุน ได้กำไรงาม ให้ใช้หลักที่กล่าวไป เข้ามาเป็นตัวประกอบการตัดสินใจ สงสัยให้มาก ๆ ว่า สิ่งที่เรากำลังรับรู้ตรงหน้ามัน “จริงหรือไม่?” เพราะโดยปกติแล้ว อะไรที่ดีเกินไป ได้ทุนคืนไว ผลตอบแทนสูง “มักดีเกินไปจริง ๆ”
มาเริ่มจากของใกล้ตัวอย่างกระเป๋า (หรืออื่น ๆ ก็ได้ พวกเสื้อผ้า นาฬิกา รองเท้า หมวก) แบรนด์เนมก่อนเลย โดยปกติแล้วแบรนด์เนมที่ไม่ใช่ของแท้ จะมีหลายเกรด ไล่ตั้งแต่เกรดต่ำไปจนถึงเกรดสูง เกรดยิ่งสูงยิ่งเนียนมาก บอกได้เลยว่าโอกาสที่จะดูออกว่าแท้หรือไม่นั้น ยิงผ่านรูปภาพหรือวีดีโอแล้ว แทบจะเป็นศูนย์
ต้องดูอย่างใกล้ชิด ลองสัมผัสเนื้อผ้า ดูรอยตะเข็บ และอย่างน้อย ตัวเองต้องเป็นคนที่ใช้ของแท้บวกเป็นคนช่างสังเกต ถึงจะพอมีโอกาสดูออก ถ้าไม่เช่นนั้นก็แทบจะแยกไม่ออกเลยทีเดียว
ส่วนที่สองที่สายตาอันซุกซนชอบสอดส่อง คือการมองไปที่ “รถหรู” ซึ่งในยุคนี้ สามารถหาเช่าได้ง่าย ๆ เพียงพิมพ์ไปใน google ว่า “เช่ารถหรู” ก็มีหลากหลายตัวเลือก ตั้งแต่ BMW ค่าเช่าวันละ 5 ถึง 8 พัน ไปจนถึงรถ Ferrari หลัก 1 ถึง 3 แสนบาท
ให้ลองคิดดูว่า หากคนที่กำลังจะมาหลอกเรา เขาก็มีทุนในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะมาสร้างภาพ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่จะเช่ารถเหล่านี้มา และถ่ายในหลาย ๆ มุมและสถานที่ เปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมไปเรื่อย ๆ เก็บหลาย ๆ ช็อต ไว้เป็นสต็อก
และอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ครบรส ก็คือในเรื่องของสถานที่ หรือ “setting” เช่น การไปเช่าโรงแรมหรู ๆ หรือบ้านพักราคาแพง แล้วก็ใช้เทคนิคเดิมที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ คือเปลี่ยนองค์ประกอบเล็กน้อย อย่าง เสื้อผ้า หมวก นาฬิกา ให้ดูเหมือนว่าเป็นรูปที่ถ่ายคนละวันและเวลานั่นเอง ที่เหลือก็คือในเรื่องของการจะหยิบยกอะไรมาอยู่ในองค์ประกอบของภาพหรือวิดีโอ เพื่อให้ดู “หลอกล่อใจ” ขึ้นมาอีก เช่น ดินเนอร์หรู ๆ พร้อมไวน์ราคาแพง
เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้ มาประกอบเป็นภาพหรือวิดีโอ เพื่อกระตุ้นจิตใจของผู้ที่กำลังเสพ ดึงความอยากและความโลภออกมา หลอกล่อให้ลงทุน ก็ครบสมการที่จะสร้างภาพมายา นำไปสู่การกระบวนการของวงจรอุบาทว์ ที่เรียกว่า “แชร์ลูกโซ่”
แท้ที่จริงแล้ว ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงในระดับผิวเผินเท่านั้น แต่ก็มากพอที่จะหยิบขึ้นมาเล่าแบบคร่าว ๆ ให้พอเห็นภาพได้ ว่าการลงทุนอะไรก็ตาม ถ้าใช้อารมณ์แบบมืดฟ้ามัวดิน ปราศจากหลักความคิดอะไรสักอย่างที่ยึดไว้ เช่น skepticism นั้นน่ากลัวขนาดไหน เพราะหลายครั้งเรื่องที่เป็น common sense ก็ถูกบดบังด้วยอารมณ์ร้อน ร้อนใจที่อยากรวยเร็ว ต้อง to the moon วันนี้พรุ่งนี้
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจนั้นมีความระส่ำระสาย เพราะฉะนั้นจะลงทุนอะไร ให้ระวังตัวกันด้วย!