คงจะมีเพียงไม่กี่โมเมนต์ของใน 365 วัน ที่พี่น้องชาวไทยต่างพร้อมเพรียง ผสานจิตใจเข้าหากัน เพื่อมาฟังเสียงอย่างน้อยสองครั้งของทุก ๆ เดือน
“เลขที่ออก ออดดด…”
แล้วก็ต่างประสานเสียง สบถกันออกมาเบา ๆ (หรืออาจจะดัง ๆ) ว่า
“โดนหวยกินอีกแล้ว!”
เป็นเวลาเนิ่นนาน ราว ๆ 190 กว่าปี ได้มีการเล่นหวยจากกลุ่มชาวจีน ซึ่งแน่นอนว่ามีจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน ในสมัยของพระเจ้าเตากวาง แห่งราชวงศ์ชิง โดยเรียกว่า “ฮวยหวย” จนกระทั่งมีการแพร่กระจาย เข้าสู่สังคมไทยในวงกว้างขึ้น
ในช่วงปี พ.ศ. 2375 เป็นช่วงที่ผู้คนไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย ข้าวยากหมากแพง จนบางคนถึงกับเอาเงินไปฝังไว้ในดิน จึงได้มีการโปรดเกล้า ฯ จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) หาทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ด้วยการจัดตั้ง “โรงหวย” ขึ้นมา โดยมี “เจ้าสัวหง” หรือ “พระศรีไชยบาล” เป็นผู้เสนอไอเดียและเป็นผู้ก่อตั้ง
เชื่อว่ามาถึงจุดนี้ คงจะต้องเอ๊ะกันนิด ๆ ว่าทำไมถึงบอกว่าช่วง พ.ศ. 2375 ข้าวยากหมากแพง ถึงขนาดเอาเงินไปฝังไว้ในดินกันเชียว นั่นก็เป็นเพราะว่า ในช่วงนั้นมีภัยทางธรรมชาติ เช่นน้ำท่วมและฝนแล้งแบบต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบเสียหายต่อนาข้าว จนนำมาซึ่งการชะงักทางการเงินและการค้า จนขาดสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ถึงขั้นตัวชาวนาเองนั้นไม่มีเงิน จำต้องเข้ามารับจ้างในเมือง แลกเป็นค่าแรงเป็นข้าวไปบริโภค จนทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงเกิดสงสัย คิดว่าผู้คนนำเงินไปซื้อฝิ่น จนกระทั่งพระศรีไชยบาลนำเรื่องมากราบทูล ฯ และเสนอการ “เล่นหวย” ตามที่ได้กล่าวไปด้านบนนั่นเอง
เรื่องอื่น ๆ ที่ควรนำประกอบเรื่องราว ที่ไม่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ก็คือการใช้จ่ายเงินกว่าปกติในราชการแผ่นดิน โดยเริ่มจากเหตุการณ์ “กบฏเจ้าอนุวงศ์” ในช่วง พ.ศ. 2369 ถึง 2371 ตามมาด้วย “อานามสยามยุทธ” หรือ “สงครามสยามกับญวน” (ไทย – เวียดนาม) ซึ่งกินเวลานานถึง 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2376 ถึง 2390
การพัฒนาการของวงการหวยนั้นมีมาเรื่อย ๆ เพราะถือว่าเป็นหนึ่งใน “รายได้หลักของประเทศ” จนถึงปี พ.ศ. 2482 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นครั้งแรก
ในปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำนิยามของ “หวย” ไว้สองแบบ คือ “หวย ก ข” ซึ่งน่าจะเป็นคำที่ติดปากกันมากที่สุด และ “สลากกินแบ่ง” โดยความหมายของ “หวย ก ข” ยังคงเรียกว่าเป็น “การพนันอย่างหนึ่ง” ในขณะที่ “สลากกินแบ่ง” เรียกว่าเป็น “การเสี่ยงโชค”
ที่ยกความหมายของทั้งสองมา ก็เพื่อตอบคำถามที่หลายคนอาจเคยมีแวบเข้ามาในใจ ว่าสรุปการเล่นหวย คือการเสี่ยงโชคหรือเป็นการ “ลงทุน” กันแน่?
หากมองตามความหมายที่อธิบายไว้ด้านบน หวยนั้นยังคงห่างจากเป็นการลงทุน และเป็นเพียงการเสี่ยงโชค
จากผลสำรวจล่าสุดของสวนดุสิตโพล ในหัวข้อ “คนไทยกับหวย” เป็นจำนวน 1,081 คน โดยสำรวจผ่านทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 ถึง 31 มีนาคม 2565 พบว่าแรงจูงใจอันดับหนึ่งในการซื้อหวยคือ “หวังถูกรางวัล หวังรวย” มากถึง 54.60% ตามด้วย “ชอบเสี่ยงโชค” อยู่ที่ 48.65% และ “ฝันเห็นเลขเลยซื้อ” ที่ 32.59%
เสน่ห์ของการเล่นหวย คือการมอบความหวังปนความสนุกที่ได้ลุ้น เพื่อที่จะได้พลิกชีวิต รวยแบบฟ้าผ่าจากเงินจำนวนไม่กี่บาท แต่ทว่าสำหรับหลาย ๆ คน กลายเป็นว่าอาจจะ “ติดใจ” ไปหน่อย
คงจะมีซักวันแหละ ที่จะเป็น “วันของเรา” แต่ในระหว่างนี้ ที่เรายังไม่ใช่ผู้โชคดีคนนั้น ก็แอบเสียดายเงินบางส่วน ที่สามารถนำมาออมได้ หรือนำไป “ลงทุน” แบบอื่นที่อาจรวยช้ากว่า แต่ไม่ต้องอาศัยบุญและวาสนา หรือรอให้เลขเด็ด ๆ มาเข้าฝัน
เทคนิคที่ดีที่สุด คือการมองว่าการ “ออมเงิน” ควบคู่ไปกับการเล่นหวยนั้น เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และเผลอ ๆ อาจจะสนุกด้วยซ้ำ โดยวิธีการนั้น อันที่จริงแล้วก็สุดแล้วแต่จินตนาการจะสร้างสรรค์ แต่ถ้าให้แนะนำเทคนิคที่มักเป็นที่พูดถึง เกี่ยวกับการเล่นหวยควบคู่ไปกับการออมเงิน นั้นสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 เทคนิค
1. นำจำนวนเงินทั้งหมดที่ซื้อหวย เช่นถ้าซื้อหวย 5 ใบ ก็ให้เอาเงินในจำนวนเท่ากันมาออม
2. การใช้ตัวเลขท้าย 3 ตัว ตามรางวัลที่ 1 โดยเก็บทุกวันหวยออก แล้วนำตัวเลขสามตัวนี้มาออม
3. แทนที่จะซื้อ 10 ใบ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็น 5 ใบ และเอาเงินครึ่งนึงมาออมแทน
อีกสิ่งหนึ่งสำคัญของการออม คือการมีบัญชีแยกให้ชัดเจน เช่นหากเรามีบัญชีเอาไว้ใช้จ่ายทั่วไปของธนาคารนึง เงินที่ออมนั้น ถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้ของอีกธนาคารไปเลย แล้วก็ “ห้าม” พกบัตรเดบิต หรือมีแอปของธนาคารที่เอาไว้ใช้ออม
อย่างที่ได้กล่าวไปนั้น เวลาที่โดนหวยกิน แทนที่จะเอาเวลาไปย้อมใจ ด้วยการขึ้นโพสต์บนเฟซบุ๊ก บ่นว่า “ไม่อยากถูกรัก แค่อยากถูกหวย” และคำนวณเงินคงเหลือในบัญชี ว่าจัดมาม่าได้อีกกี่มื้อ ให้เอาเวลาไปหาวิธีออมเงินไปในตัว ที่สามารถคิดค้นเองได้ง่าย ๆ หรือนำไปคุยกับเพื่อนฝูงก็ดี เผื่อสร้างเป็นเกมเอาไว้ปลอบใจโดนหวยกิน ด้วยการออมเงิน