ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับไวรัสโควิด -19 ทำให้หลายต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนัก เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็เกิดปะทุขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งให้ราคาน้ำมันดิบโลกอย่าง Brent และ WTI พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อมีให้แนวโน้มปรับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพฤษภาคม 2565 เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงอยู่ที่ 8.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี
Bloomberg Economics ระบุว่า ปีหน้าสหรัฐฯ มีโอกาสประมาณ 1 ใน 3 ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หลังจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพราะความเชื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ consumer confidence เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 98.7% จากการที่เฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาที่ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ระดับ 7.66% ถือเป็นระดับที่สูงเกินกว่าที่คาดไว้ หรือสูงอย่างต่อเนื่องในรอบ 13 ปี โดยมีปัจจัยที่ดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น หลักๆ มาจากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม
ขณะที่ประเทศเวียดนามกลับเป็นหนึ่งประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจสามารถเดินเกมได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นเวียดนามพลิกฟื้นสร้างความแข็งแกร่งได้อย่างรวดเร็ว Bloomberg consensus ระบุว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ในระดับ 1.42% ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 4% ค่อนข้างมาก เพราะเวียดนามยังถือว่า ยังคงควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เพราะได้รับแรงหนุนจากการผลิตอาหารภายในประเทศ บวกกับธนาคารกลางเวียดนามมีแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป จึงคาดการณ์ว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเวียดนามจะเติบโตถึง 26% ได้ในปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขับเคลื่อนอย่างแข็งแกร่ง
- การเติบโตของ GDP ของประเทศเวียดนาม ปี 2565 ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 7% โด่ดเด่นกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต 6% ขณะที่ปี 2566 จะเติบโต 7.2% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในอาเซียน
- เวียดนามมีการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้ GDP มีการเติบโตได้ ส่งผลให้ Sentiment ของการลงทุนหุ้นเวียดนามดูดี นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้าขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย เข้ามาลงทุนในเวียดนามสูงสุด ถือว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญทำให้มีการขยายโรงงานที่เวียดนามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ เป็นต้น
- เวียดนามได้รับอานิสงส์ผลประโยชน์จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ทำให้บรรดาบริษัทใหญ่ อย่าง เช่น Apple ย้ายฐานการผลิต เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี และส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าเวียดนามไปสหรัฐฯ 9 เดือนพุ่งสูงถึง 25% หรืออยู่ที่ราว 54,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- เวียดนามได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศจากสถานการณ์โควิด -19 มากขึ้น ทั้งในส่วนการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่สูงขึ้นหลังอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง และนโยบายที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ตลาดหุ้นเวียดนาม หรือตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Markets) เป็นหนึ่งในตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนทางตรงในประเทศ ส่งผลให้มูลค่า FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับมีประชากรประมาณ 98 ล้านคน จึงทำให้ได้เปรียบจากโครงสร้างประชากร
- สำนักงานสถิติของเวียดนามรายงานว่า การฟื้นตัวด้านการส่งออกและการผลิตได้รับแรงหนุนจากการเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยอดส่งออกในเดือนมิถุนายน 2565 พุ่งขึ้น 20% และยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 16.3% โดยยอดส่งออกกาแฟพุ่งขึ้น 13.3% แตะที่ 145,000 ตัน ยอดส่งออกข้าว ทะยานขึ้น 72% แตะที่ 750,000 ตัน และยอดส่งออกยาง เพิ่มขึ้น 16.5% แตะที่ 180,000 ตัน
- ปี 2564 ที่ผ่านมา เวียดนามมีประชากรวัยทำงานมากถึง 49 ล้านคน และจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2563 ชนชั้นกลางของเวียดนามมีสัดส่วนมากถึง 41% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 74% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
- ค่าเงินดองของประเทศเวียดนาม หากเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ในตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market พบว่า ตั้งแต่ปี 2558 ค่าเงินดองมีความผันผวนน้อยกว่าหลายประเทศ ทั้งประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน โดยสาเหตุที่ค่าเงินดองมีเสถียรภาพที่ดี เป็นเพราะจากทุนสำรองต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หนี้ต่างประเทศต่ำและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา
- Vietcombank เป็นธนาคารของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการให้บริการสินเชื่อเพื่อการนำเข้าและส่งออก ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเวียดนาม มีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 2559 – 2563 อยู่ที่ 17.31%
- ตลาดหุ้นเวียดนามปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสุดตลาดหนึ่งในเอเชียประมาณ +21% และตั้งและ 3 เดือนแรกของปี 2565 ยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ 8.5% ตลาดหุ้นเวียดนามถือว่ายังมีราคาที่ค่อนข้างถูกการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามปีที่ผ่านมา ผลประกอบการมีอัตราความก้าวหน้าสูงถึง 40% และปี 2563 สามารถสร้างการเติบโตไปได้อีกราว 20% ขณะที่ PE ตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ที่ราว ๆ ไม่เกิน 15 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ และมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่เศรษฐกิจยังเติบโตเป็นบวกได้ในท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และคาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ จีดีพีจะเติบโตขึ้นได้อีก 7% ต่อปี หรือขยายตัวในระดับที่ 6.6% และอีก 15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายการติบโตได้ถึง 5 เท่า จะสามารถขยับเลื่อนขั้นมาอยู่ที่อันดับ 19 ของโลกได้ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเสถียรภาพขยับแทรงหน้าเศรษฐกิจในเอเชียได้