ตลาดการควบรวมหรือ Mergers and Acquisitions (M&A) ก็ไม่แตกต่างอะไรจากวัฏจักรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ย่อมมีขึ้นและลงเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมาอาจเห็นได้อย่างชัดเจน ในไตรมาส 4 ของปี 65 ที่ผ่านมา
ตามที่ทาง PwC (PricewaterhouseCoopers) ประเทศไทย ได้รายงาน ธุรกิจในหลายภาคส่วนดีเลย์แผนการควบรวมเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
แต่ล่าสุดตลาดการควบรวมทั่วโลกแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 66 แต่ก็อาจยังไม่ถึงในระดับช่วงการแพร่ระบาดของ covid-19 ในปี 64
การเติบโตเพียงลำพังเสี่ยงกว่าไม่ทำอะไรเลย
หากย้อนกลับไปมอง ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูง และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนส่งผลกระทบต่อตลาดการควบรวม
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การจัดหาเงินทุนสำหรับบรรลุข้อตกลงมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดธุรกรรมน้อยลง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองเช่นสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือปัญหาระหว่างสหรัฐ-จีนที่มักงัดข้อกันบ่อย ๆ ยิ่งตอกย้ำสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยนัก
อย่างไรก็ตาม กระแสอาจกำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อบริษัทต่าง ๆ ตระหนักว่าพวกเขาเติบโตได้ยากเพียงลำพังอย่างมีนัยยะสำคัญ
ดังนั้นการกลับมาใช้วิธีการควบรวมเชิงกลยุทธ์ (strategic M&A) เพื่อปลดล็อกโอกาสใหม่ ๆ และขยายการเข้าถึงตลาดอาจเป็นทางที่ดีมากกว่า เพราะการควบรวมสามารถช่วยให้บริษัทต่าง ๆ เข้าถึงเทคโนโลยี ลูกค้า และตลาดใหม่ ๆ ได้ ซึ่งสามารถผลักดันการเติบโตและเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย (shareholder value)
การกลับมาเชื่อมั่นในตลาด อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
การกลับมาขยายตัวของตลาดการควบรวม อาจกำลังสะท้อนความเชื่อมั่นในตลาดที่กำลังกลับมาได้เช่นกัน (market confidence) เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ กลับมา “เปิดใจ” ที่จะรับความเสี่ยงเพื่อลงทุนในการเติบโตมากขึ้น
ดังนั้นแนวโน้มนี้อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจในภาพกว้างได้ โดยกำลังบ่งบอกว่าพวกเขาน่าจะมองว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุด” อยู่ข้างหลังแล้ว และสภาพแวดล้อมที่มีเสถียรภาพมากขึ้นอาจกำลังรออยู่ข้างหน้า
นอกจากนี้แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดการควบรวมมักจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอีกด้วย เพราะข้อตกลงการควบรวม โดยปกติแล้วจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่สูงขึ้นสำหรับบริษัทที่ถูกซื้อ เนื่องจาก “ผู้ซื้อ” มักจะจ่ายในราคา “พรีเมียม” และอีกปัจจัยคือ ความคาดหวังในข้อตกลง อาจกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนผลักดันให้ตลาดปรับตัวสูงขึ้นได้
สัญญาณที่ดี…?
การฟื้นตัวของตลาดที่กล่าวไปนี้ อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจโลกรวมถึงของประเทศไทยเอง เพราะการที่ธุรกิจต่างใช้การควบรวมในเชิงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต อาจกำลังสะท้อนให้เห็นถึงการกลับมามีความมั่นใจในตลาดอีกครั้ง
แนวโน้มนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้ แต่ยังมีศักยภาพในการดันให้ตลาดหุ้นอาจกลับมาดีดตัวได้ (แน่นอนว่าต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วยนะ!)
เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่จุดนี้ จำเป็นจะต้องจับตาดูภูมิทัศน์ของตลาดการควบรวมอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นสัญญาณที่นำมาวิเคราะห์ใช้ในการเพิ่มข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจ เพื่อจะได้ตัดสินใจให้รอบคอบยิ่งขึ้นสำหรับการจัดการพอร์ตการลงทุนของตัวเอง