Mindset ที่ดีนั้นมีเยอะแยะมากมาย แต่ในขณะเดียวกันที่ไม่ดีไม่ควรมีก็มีเยอะไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นมีชื่อเรียกว่า “Scarcity Mindset” ที่เปรียบดังยุงตัวเล็ก ๆ แอบแฝงอยู่ในห้องบินวนไปวนไปให้น่ารำคาญใจ ความคิดนี้มักทำให้ผู้คนผูกติดอยู่กับ “ความปลอดภัย” ที่มากเกินควร จนขัดขวางการเติบโตทางการเงิน
แน่นอนว่าทุกคนคงรู้ดีว่าการจะเติบโตไปสู่ความมั่งคั่งหรือแม้กระทั่งการประสบผลความสำเร็จในชีวิต บางครั้งก็ต้องกล้าที่จะเสี่ยง แต่ควรเป็นการเสี่ยงแบบ Calculated risk ที่คำนวณมาแล้ว และสามารถที่จะบริหารความเสี่ยงนั้นได้ (risk management)
หาบาลานซ์ระหว่างความปลอดภัยที่มากเกินและความเสี่ยงที่หวือหวาไป
ความหมายของ Scarcity Mindset คือการที่รู้สึกว่าทรัพยากรนั้นมีจำกัดมาก และเราต้องคอยต่อสู้เพื่อแย่งชิงมันมาหรือปกป้องยิ่งกว่าชีวิต
ในมุมนึงความคิดนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไรเลย แต่ถ้านำมาใช้กับโลกแห่งการลงทุนบางครั้งก็อาจไม่เหมาะสมนัก มันจะทำให้เกิดความกลัวที่สูญเสียจนเกินเหตุ ทำให้ตัดสินแบบระมัดระวังมากไปหรือแม้แต่กลายเป็นหลีกเลี่ยงการลงทุนไปโดยสิ้นเชิง
บางครั้งความคิดเช่นนี้ก็งอกมาเยอะเกินจนขัดขวางการเติบโตทางการเงินในระยะยาว และจะจำกัดความสามารถในการคว้าโอกาสที่อยู่ตรงหน้าอีกด้วย
ใช่ มันอาจทำให้เราไม่เสียอะไรเลยหรือเสียน้อย แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็ทำให้เราเติบโตได้ยากเช่นกัน เพราะฉะนั้นความสมดุลคือคำตอบ
ลองหันมาโอบกอดความ “อุดมสมบูรณ์” ดูบ้าง!
เพราะฉะนั้นแล้ว ผลกระทบที่กระเพื่อมจากความคิดนี้มักจะนำไปสู่ความตระหนี่ขั้นเอ็กซ์ตรีม ทำให้พลาดประสบการณ์ที่จะเรียนรู้และโอกาสอีกมากมายแค่ในนามของการ “ประหยัดเงิน” และหนึ่งในผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดของความคิดนี้คือการต้องโบกมือลาโอกาสในการลงทุน
ผู้ที่ระมัดระวังมากเกินไปอาจพลาดโอกาสที่จะเติบโตจากโอกาสต่าง ๆ ที่แฝงตัวอยู่ในตลาด ซึ่งอาจส่งผลให้บัญชีเกษียณอายุมีเงินทุนไม่เพียงพอ พอร์ตการลงทุนที่ไม่ค่อยกระจายนัก และท้ายที่สุดคืออนาคตทางการเงินที่ไม่สดใส
เพื่อหลุดพ้นจากกรอบความคิดนี้อาจเป็นเพียงการยอมเริ่มจากปรับเปลี่ยนมุมมองซักเล็กน้อย แน่นอนว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่พูด แต่อย่างน้อย ๆ ก็ขอให้พยายามที่จะลองดูก่อน
โดยมุมมองที่ว่านี้จะเป็นการเชื่อว่ามีทรัพยากรและโอกาสมากมายเพียงพอที่จะประสบความสำเร็จทางการเงิน ด้วยการยอมรับความ “อุดมสมบูรณ์” นี้ แต่ละคนก็จะสามารถก้าวเข้าสู่เส้นทางการเติบโตทางการเงินได้
วันนี้… ได้ตรวจสอบความคิดตัวเองแล้วหรือยัง?
เช่นนั้นแล้ว หากอยากจะเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบความเชื่อและทัศนคติมีต่อ เงินเสียก่อน
การตระหนักถึงรูปแบบความคิดของตัวเองที่อาจนำไปสู่ Scarcity Mindset เป็นขั้นตอนแรกสู่การเปลี่ยนแปลง จากจุดนี้ก็จะสามารถหาวิธี “จัดกรอบ” (reframe) ความคิดได้ใหม่
นอกจากนี้ การรายล้อมตัวเองด้วยพลังงานเชิงบวกก็สามารถเป็นอีกเครื่องมือในการเสริมสร้างความคิดที่อุดมสมบูรณ์ได้
การเชื่อมต่อกับผู้อื่นที่มีความคิดมุ่งเน้นการเติบโต (Growth Mindset) ร่วมกัน และพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสำเร็จทางการเงิน ก็สามารถช่วยได้ไม่น้อยเลย
สุดท้ายนี้หากสามารถหลุดพ้นจาก Scarcity Mindset เพื่อโอบกอดความอุดมสมบูรณ์ สร้างบาลานซ์ให้กับความคิดตัวเองได้ ก็จะสามารถเดินสู่เส้นทางการเงินที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการละทิ้งความกลัวและยอมรับการมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ก็อาจสามารถตัดสินใจลงทุนด้วยใจที่เปิดกว้าง พร้อมคว้าโอกาสเพื่อสร้างอนาคตการเงินที่มีคุณภาพ