วันนี้ทางฟินเวิร์ส จะมาบอกวิธีแก้เคล็ด ทำอย่างไรให้เปิดกระเป๋าสตางค์ออกมาแล้วฝุ่นไม่เกาะ และหวังว่าจะทดแทนด้วยเงินเป็นปึก ๆ แทน
อาจเป็นที่สังเกตกันอยู่แล้วว่า ชาวญี่ปุ่นนั้นคือปรมาจารย์ด้านการใช้ชีวิตแบบมินิมอล ที่สะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ ถ้าหากมองในแง่ของ “การเงิน” หนึ่งในหัวใจของการใช้เงินแบบมินิมอล ก็คือ “คะเคโบะ” หรือก็คือ วิธีการจดบันทึกการใช้จ่ายโดยมีการออมเงินเป็นเป้าหมาย และที่สำคัญที่สุด ต้อง “spend wisely” หรือการใช้เงินอย่าง “ชาญฉลาด”
หากพูดอีกนัยหนึ่งคือ พวกพฤติกรรม “ของมันต้องมี” กับ “ปังมากแม่ต้องจัดแล้ว!” อาจจะต้องขยับเกียร์แห่งกิเลส ลดลงมาอีกนิดนึง ควบคู่กับวิถีแห่งคะเคโบะไปในตัว
จุดเริ่มต้นของคะเคโบะ ต้องย้อนกลับไปเกือบหนึ่งศตวรรษที่แล้ว โดยมีคุณ Hani Motoko นักข่าวหญิงคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ใช้วิธีคะเคโบะ พร้อมบทบาทของการเป็น “ภรรยา” ในการบริหารงบประมาณของครอบครัว
ดังนั้นคะเคโบะจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้คุณผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งยังคงมีผู้ชายเป็น “แกนหลัก” รู้สึกมีเสรีภาพขึ้นมา เพราะสามารถ “คุมการเงินทั้งหมด” ของทั้งครอบครัวได้
ถ้าพูดถึงกรณีนี้ในประเทศไทย ก็ดูเหมือนฝ่ายคุณผู้หญิงมักจะคุมเรื่องการเงินภายในบ้านเช่นกัน ทางเราก็ไม่แน่ใจว่า ประเทศไทยเราอาจจะได้รับอิทธิพลบางอย่างมาจากประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เรารู้ว่า “ภรรยามีความสุข สามีก็มีความสุขมากขึ้น”
ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่น คะเคโบะยังคงเป็นที่นิยมใช้สำหรับใครหลายคน โดยมีไอเดียหลักอยู่ที่ “tracking income and recording expenditure” หรือ “ติดตามรายได้และบันทึกรายจ่าย” ทั้งหมด วิธีนี้สามารถทำให้เราเห็นในภาพการเงินที่กว้าง และที่สำคัญคือการนำไปสู่การใช้จ่ายเงินที่ชาญฉลาดกว่าเดิม
พื้นฐานหลักของวิธีนี้ จะแยกออกมาเป็นสองความคิดหลักด้วยกัน ได้แก่
การออมเงินก็คือการรู้จักใช้เงินอย่าง “รอบคอบ”:
ปกติคนเรามักจะโฟกัสการออมเงินกับสิ่งที่เราห้ามใช้จ่าย จนอาจทำให้รู้สึกอึดอัดใจ แล้วมองว่าการออมเงินเปรียบเสมือน “งานบ้านที่น่าเบื่อ” และทำให้ไม่สามารถแก้ไขไลฟสไตล์ได้ในระยะยาว ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือไม่ใช่ไปโฟกัสการออมเงินกับสิ่งที่ห้ามใช้จ่าย แต่เป็นการโฟกัสกับ “การใช้จ่าย” นี่แหละ เพียงแต่จะใช้จ่ายให้ “รอบคอบ” อย่างไรก็เท่านั้นเอง
แยกการใช้จ่ายมาเป็น “สิ่งที่อยากได้” กับ “สิ่งที่ขาดไม่ได้”:
คนเราทุกคนจะต้องทานอาหาร นี่คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่การที่จะเลือกทานร้านอาหารแพง ๆ คือสิ่งที่อยากได้ เพราะฉะนั้นต้องแยกแยะให้ชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งที่อยากได้กับสิ่งที่ขาดไม่ได้ วิธีคะเคโบะแนะนำให้จดทุก ๆ ต้นเดือน ว่ามีค่าใช้จ่ายที่เป็น “ประจำ (fixed)” กับ “จำเป็น (essential)” อะไรบ้าง ส่วนในรูปแบบของแต่ละสัปดาห์ ก็อาจจะแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
นอกจากสองความคิดหลักแล้ว วิธีคะเคโบะ จะขอให้เราถามตัวเองอีกทั้งหมดด้วยกัน 4 คำถาม หรือก็คือ “The Kakeibo Cycle” (4 วงจรแห่งคะเคโบะ)
1) เรามีเงินเหลือเท่าไหร่? (หักลบจากสิ่งที่ต้องซื้อ “ประจำ” และ “จำเป็น” เช่น ค่าห้อง)
2) เราอยากออมเงินแค่ไหน? (สร้างเป้าหมายในการออมที่ชัดเจน และแต่ละสัปดาห์ให้ควบคุมการใช้จ่ายไม่ให้เกินที่ตั้งไว้)
3) เราใช้จ่ายมากแค่ไหน? (จดรายละเอียดสิ่งที่ทำให้เงินออกทั้งหมด)
4) เราจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร? (ทุก ๆ สุดสัปดาห์และสิ้นเดือน ให้เรามาดูบันทึกเหล่านี้ และดูว่าสามารถปรับปรุงอย่างไร)
ทางเราเข้าใจดีว่า การจะเริ่มทำอะไรเช่นนี้นั้นดูเหมือนจะง่าย ทว่าพอเอาเข้าจริง ๆ ก็ยากพอควร แต่เราอยากให้ลองนึกถึงอารมณ์ความช้ำใจ ตอนเปิดกระเป๋าสตางค์มาแล้วเห็นแต่ฝุ่น หรือเปิดแอปธนาคารดู แล้วรู้สึกอยากจะปามือถือออกไปไกล ๆ
เพราะฉะนั้นถ้ามีวิธีไหนที่ทำให้สามารถใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาดได้มากขึ้น จนนำไปสู่การออมเงินที่มีประสิทธิภาพ ก็ควรค่าแก่การได้ลองทำดู ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยเนอะ!